‘ออมสิน’จุดพลุ QRCode แบงก์แรกเปิด‘MyMo Pay’ดึงร้านค้าใช้บริการ

29 ก.ค. 2560 | 03:00 น.
ออมสิน เปิดบริการ “MyMo Pay” แห่งแรกในไทยซื้อขายสินค้า-บริการผ่าน QR Code เจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เดินตามแผนสังคมไร้เงินสด ตั้งเป้าสิ้นปีฐานลูกค้าแตะ 2 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะพัด 1.5 พันล้านบาท ยัน1-2 เดือน เชื่อมระบบสแตนดาร์ดกลางกับธปท.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารได้เปิดให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ “MyMo Pay” ซื้อสบาย สะดวกทุกการรับจ่าย ด้วยการ Scan QR code ซึ่งบริการใหม่นี้เป็นอีกเมนูหนึ่งใน แอพพลิเคชั่น MyMo ซึ่งเป็น Mobile Banking ที่ธนาคารออมสินเปิดให้บริการมาแล้วเกือบ 2 ปี และมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 1.5 ล้านราย จากฐานลูกค้า 30 ล้านบัญชี จำนวน 20 ล้านคน โดยประชาชน 1 ใน 3 เป็นฐานลูกค้าธนาคารออมสิน

[caption id="attachment_151036" align="aligncenter" width="503"] นายชาติชาย พยุหนาวีชัย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย[/caption]

ทั้งนี้ MyMo Pay ของธนาคารออมสินถือเป็นบริการแรกของประเทศไทยที่สามารถโอนเงินซื้อสินค้าและบริการด้วย QR Code เพียงยกมือถือแล้ว Scan QR code ที่ร้านค้าหรือจุดให้บริการ โดยเงินจะจ่ายตรงเข้าบัญชีเงินฝากของร้านค้า ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันที โดยลูกค้าที่สมัคร MyMoPay สามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเพียงดาวน์โหลดแอพพิเคชั่น MyMo ก็สามารถรับจ่ายเงินสะดวก

การเปิดให้บริการในครั้งนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายสินค้าแบบเดิมๆ ที่ต้องถือเงินสด เตรียมเงินทอน สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการเป็นสัมคมไร้เงินสด (Cashless Society) ตามแผนพัฒนาระบบการชำระเงินแห่งชาติ (National e-Payment) ขณะเดียวกันลูกค้าที่ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด หากเป็นระบบปกติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (MDR) ที่ภาครัฐกำหรดเพดานอยู่ที่ 0.55% ซึ่งจะมาช่วยขยายการกระจายควบคู่กับเครื่องรับบัตร (EDC) ได้ในพื้นที่ที่เครื่องรับบัตรเข้าไม่ถึงได้

[caption id="attachment_184603" align="aligncenter" width="503"] ‘ออมสิน’จุดพลุ QRCode แบงก์แรกเปิด‘MyMo Pay’ดึงร้านค้าใช้บริการ ‘ออมสิน’จุดพลุ QRCode แบงก์แรกเปิด‘MyMo Pay’ดึงร้านค้าใช้บริการ[/caption]

สำหรับเป้าหมาย MyMo Pay ในเบื้องต้นธนาคารต้องการมุ่งเน้นให้เป็นการใช้จ่ายบริโภคในชีวิตประจำวัน เน้นโปรโมทในกลุ่มบุคคลธรรมดา พ่อค้า แม่ค้า เป็นหลัก จึงเป็นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยไม่กระตุ้นซื้อสินค้าราคาแพง ขณะเดียวกันพยายามจำกัดการใช้จ่ายในวงเงินเล็กๆ หรือเป็น Micro Payment วงเงินอยู่ที่ 5,000-1 หมื่นบาทเท่านั้น แม้ว่าวงเงินใช้จริงจะสามารถใช้จ่ายได้ถึง 5 หมื่นบาท-1 แสนบาทก็ตาม แต่เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนจึงจำกัดวงเงินไว้ก่อน หากภายหลังประชาชนเกิดความเข้าใจจะขยายวงเงินใช้จ่ายได้เพิ่มต่อไป

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่าน MyMo Pay ในเบื้องต้นหากคำนวณฐานลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านราย หากมียอดใช้จ่ายคนละ 1,000 บาท จะมียอดใช้จ่ายรวมผ่านระบบ MyMo Pay ประมาณ 1,500 ล้านบาท และหากธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าปีละ 1 ล้านราย จะเห็นยอดใช้จ่ายเพิ่มเป็นเป็นหมื่นล้านได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าภายในสิ้นปีเป็น 2 ล้านราย และในปี 2561 ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าใหม่เป็น 2 ล้านราย จากปกติจะเพิ่มลูกค้าเฉลี่ยปีละ 1 ล้านราย

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปบริการ MyMo Pay จะมีการพัฒนาเชื่อมโยงกับระบบ QR Code Standard ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบอยู่ใน SandBox คาดว่าภายใน 1-2 เดือนน่าจะได้เห็น ซึ่งธนาคารออมสินก็จะมีการพัฒนาเพื่อเขื่อมโยงกับระบบของธปท. เนื่องจากเป็นระบบกลางที่ทุกธนาคารจะใช้ร่วมกันได้ เพื่อควาทสะดวกให้กับลูกค้าและประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560