ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 60 คนกรุงฯ ใช้จ่ายซื้อเครื่องสำอางลดลง

25 ก.ค. 2560 | 08:00 น.
ปี’60: คาดคนกรุงฯ ใช้จ่ายซื้อเครื่องสำอางลดลง ...แม้ภาพรวมซบเซา แต่ส่วนใหญ่ไม่ลดการใช้ หันมาปรับพฤติกรรมการซื้อแทน

kasikonthai160360-696x408 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ปี 2560 มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ที่ทำให้การวางแผนงบประมาณใช้จ่ายเครื่องสำอางในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท) อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคนกรุงฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสินค้าเครื่องสำอาง สะท้อนจากผลการสำรวจที่ระบุว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน แต่คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 70.5 ยังเลือกที่จะจับจ่ายสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางอยู่ แต่จะหันมาปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ แทน อาทิ ค่าท่องเที่ยวและนันทนาการ (ดูหนัง/ฟังเพลง) หรือหากจำเป็นต้องลดงบประมาณในส่วนนี้ลง ก็จะยังคงซื้อเหมือนเดิมแต่จะเลือกเครื่องสำอางที่มีราคาถูกลงหรือแบรนด์ที่มีตำแหน่งทางการตลาดต่ำลงมาจากที่เคยใช้

ทั้งนี้ เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่คนกรุงฯ ใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องสำอางปี 2560 จะตกไปอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งหน้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 รองลงมาคือ น้ำหอม (ร้อยละ 25) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (ร้อยละ 12)  ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ (ร้อยละ 11)  ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลช่องปาก (ร้อยละ 10) และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (ร้อยละ 10) ตามลำดับ kb0725-a-1

แม้ว่าคนกรุงฯ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท) จะลดงบประมาณในการเลือกซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางลง แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป (รายได้ต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาท ) กลับพบว่า มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางใกล้เคียงกับปีก่อน และจะใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางมากที่สุดคือ กลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000-40,000 บาท รวมถึงกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 35-39 ปี โดยความต้องการดูแลภาพลักษณ์ของตนเองเพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อมากที่สุด แตกต่างจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังคงให้ความสำคัญกับค่าครองชีพมาเป็นอันดับแรก และค่อนข้างจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยจะเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางที่มีความจำเป็นหรือประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันมาก่อน อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล Personal Care (อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน) ทั้งนี้ แม้ว่าสินค้ากลุ่มนี้จะมีอัตราการซื้อที่ค่อนข้างบ่อย แต่ราคาเฉลี่ยก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มแต่งหน้าและน้ำหอม

ดิสเคาน์สโตร์ ... ยังเป็นแหล่งหรือช่องทางที่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ นิยมเลือกซื้อเครื่องสำอางมากที่สุด รองลงมาคือ ร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงาม (Beauty Specialty Stores) และซูเปอร์มาร์เก็ต ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่า ดิสเคาน์สโตร์ค่อนข้างตอบโจทย์คนกรุงฯ ในเรื่องของช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล Personal Care อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางของผู้ประกอบการ Global Brand รายใหญ่ที่มีฐานการผลิตในไทย  มีตราสินค้าเป็นที่รู้จักในระดับสากล

หากวิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวของช่องทางจำหน่ายเครื่องสำอาง จะพบว่า ร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงามมีการเติบโตและหันมารุกตลาดเครื่องสำอางมากขึ้น ซึ่งจุดเด่นของร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงามนั้น จะเน้นเครื่องสำอางที่มีความแปลกใหม่ หลากหลาย และอยู่ในกระแสความนิยม ทั้งกลุ่มสินค้าของผู้ประกอบการในประเทศ (ทั้ง Global Brand และ Local Brand) สินค้านำเข้าและสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ในตลาดอย่างกลุ่ม SMEs ที่ในระยะหลังออกมาทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญก็คือกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน สะท้อนจากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมเลือกซื้อเครื่องสำอางจากช่องทางนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่งหน้า ซึ่งในปีนี้คาดว่า จะมีร้านค้าปลีกความงามขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 สาขาทั่วประเทศ  และในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่าช่องทางเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าปลีกความงาม จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงดิสเคาน์สโตร์ จากกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่และการกระจายสาขาออกไปสู่หัวเมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค

•การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ... จะสร้างความอยู่รอดของผู้ประกอบการได้ในระยะต่อไป แม้ว่าในปีนี้ธุรกิจเครื่องสำอาง อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด แต่การมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขายเหนือคู่แข่งได้ เช่น

ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่เครื่องสำอางก็ยังเป็นสินค้าที่จำเป็นในสายตาของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การแข่งขันแย่งชิงกำลังซื้อ จึงอยู่ที่การให้คุณค่าแก่ผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งในแง่ของคุณภาพสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านความงามหรือการดูแลตัวเอง ใช้แล้วเห็นผลจริงตามโฆษณา ภายใต้ระดับราคาเหมาะสม หรือทำให้ลูกค้าเห็นว่าหากเลือกสินค้าแล้วจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา อาทิ การนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่สามารถรวมคุณสมบัติหลายอย่างไว้ในชิ้นเดียว หรือการพัฒนาสูตรเครื่องสำอางให้มีคุณสมบัติทัดเทียมหรือใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมแต่มีราคาสูง แต่สามารถจับจ่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่า สะท้อนจากผลการสำรวจที่ระบุว่า หากใช้กลยุทธ์ด้านราคา จะทำให้คนกรุงฯ หันมาตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด (ร้อยละ 63) รองลงมาคือ ใช้ใบเสร็จแลกรับของรางวัล (ร้อยละ 39) และการรีวิวสินค้าจากผู้เชี่ยวชาญหรือผลลัพธ์จากผู้ใช้จริง  (ร้อยละ 27)

ขยายช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าสื่อดั้งเดิมอย่าง โทรทัศน์จะเป็นช่องทางที่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเครื่องสำอางมากที่สุด (ร้อยละ 73)  แต่ในยุคที่การดำเนินชีวิตของผู้คนถูกเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค การทำตลาดหรือการสื่อสารไปถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะผู้บริโภคจะหันมารับสื่อและจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงช่องทางการสื่อสารเหล่านี้อยู่เป็นประจำ มีอำนาจในการซื้อและการตัดสินใจซื้อค่อนข้างรวดเร็ว จะเห็นได้จากผลการสำรวจที่พบว่า สื่อออนไลน์/โซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 50) และผู้เคยใช้ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ อาทิ บล็อคเกอร์ (ร้อยละ 41)  เป็นสื่อหรือช่องทางที่มีบทบาทมากขึ้นในสายตาของผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำการตลาดผ่านช่องทางนี้ให้มากขึ้น

สร้างความประทับใจหรือประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผลจากสำรวจพบว่า คนกรุงฯ ร้อยละ 63 สนใจสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติหรือออร์แกนิคมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่คำนึงถึงความปลอดภัยและปราศจากสารเคมีที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายมาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบของ DIY หรือ Special and Unique (ร้อยละ 46) ที่ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมออกแบบเครื่องสำอางในแบบเฉพาะได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำตลาดได้ดีสำหรับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (Mass Market) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มแต่งหน้า (Make-Up or Color Cosmetics)  รวมถึงการสรรหานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแปลกใหม่/ หายากหรือไม่เคยมีมาก่อนในตลาดเข้ามาเป็นส่วนประกอบ (ร้อยละ 40)  เพื่อสร้างคุณค่าหรือมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลยุทธ์นี้เหมาะสมกับผู้บริโภคในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงผิวและทำความสะอาดผิว

โดยสรุป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค แต่เครื่องสำอางยังคงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไปบ้างตามสถานการณ์และเทรนด์การบริโภคที่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาความอยู่รอดในธุรกิจ การวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการจะต้องมีความรัดกุมและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้าให้รวดเร็วทันกระแส การวางแผนสต๊อกและการทำตลาด ตลอดจนการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและกำไรหรือมาร์จิ้นให้แก่ธุรกิจมากขึ้น kb0725-1

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย