ผลตรวจความปลอดภัยการบินพลเรือนของไทยไม่พบประเด็นที่มีนัยยะสำคัญ

24 ก.ค. 2560 | 08:45 น.
กพท.เผยการตรวจสอบประเทศไทย ด้านตามโครงการ USAP-CMA โดย ICAO ผลปรากฎว่า ไม่พบประเด็นที่มีนัยยะสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัย

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2560) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เป็นประธานในการประชุม สรุปผลการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USAP-CMA โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. ระบุถึงผลการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USAP-CMA ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่ 11-21 กรกฎาคม 2560 ว่า ในการตรวจสอบมีคำถามทั้งหมด 463 ข้อ ผลปรากฎว่าไม่พบประเด็นที่มีนัยยะสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัย จะมีเพียงประเด็นที่ต้องปรับปรุงหรือมีมาตรฐานอยู่แล้วแต่ควรแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นรวม 49 ประเด็น ซึ่งขั้นตอนจากนี้ คือ หลังจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ไป 60 วัน ICAO จะส่งรายงานผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการมาให้อีกครั้ง หลังจากนั้น ภายในอีก 30 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยเสนอข้อโต้แย้งหรือยืนยันการยอมรับรายงานผลการตรวจสอบนั้น หากขั้นตอนนั้นเสร็จสิ้น อีกภายใน 30 วัน ประเทศไทยจะต้องยื่นเสนอแผนปรับปรุงแก้ไขกลับไปให้ ICAO ทั้งนี้ ช่วงเวลาในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นการปรับปรุงแก้ไขนั้นๆ

269313 สำหรับรายละเอียดใน 49 ประเด็น ที่ ICAO แนะนำ มีประเด็นที่ควรต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เรื่องการเพิ่มกำลังคนด้านการรักษามาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านการบิน (Inspector) ของ กพท. และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของแต่ละสนามบิน เนื่องจากท่าอากาศยานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือระหว่างประเทศ มีนโยบายให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้ต้องมีการเพิ่มกำลังคนและประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน เหนื่อยล้าจนเกินไป

269314 นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยของแต่ละท่าอากาศยานด้วย เพราะขณะนี้แผนการรักษาความปลอดภัยยังมีไม่ครบทั้ง 38 ท่าอากาศยาน  ซึ่งทุกท่าอากาศยานต้องจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยสำหรับท่าอากาศยานของตนและเสนอให้ กพท. พิจารณารับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานต่อไป