ชุมชนระยองหนุนพัฒนาอีอีซี จี้สร้างรถไฟความเร็วสูงขอสถานีลงมาบตาพุด

24 ก.ค. 2560 | 09:15 น.
ชุมชนระยอง หนุนอีอีซี จี้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เรียกร้องขอสถานีจอดที่มาบตาพุด พร้อมให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะ สร้างสถานบริการให้เพียงพอ รองรับแรงงานทะลัก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการลงทุนพื้นที่รับฟังความคิดเห็นระดับชุมชนในจังหวัดระยอง ต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้แทนประมาณ 300 คนเข้าร่วม เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการพัฒนาอีอีซี และต้องการเห็นจังหวัดระยองได้รับการพัฒนาให้เป็นจังหวัดชั้นนำ

[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

โดยมีความเห็นว่า ภาครัฐควรดูแลประชาชนชาวระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการเป็นพิเศษ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเดิมๆ ของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าและประปายังไม่เพียงพอ ประชาชนโดยรอบโรงงานมีอาการเจ็บป่วย และมีประชากรแฝงจำนวนมากจากผู้ที่มาทำงานและครอบครัว

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทางคณะทำงานอีอีซีว่า ต้องการให้มีการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงตรงพื้นที่มาบตาพุด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงาน อุตสาหกรรมและมีประชากรในพื้นที่จำนวนมาก ควรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาคนและการศึกษาให้มีขีดความสามารถด้านการศึกษาวิจัย เพื่อรองรับกับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในอีอีซี การส่งเสริมให้ชุมชนมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในรูปแบบสภาองค์กรชุมชนตำบล ขอให้พัฒนาโรงพยาบาล และโรงเรียน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรจากการพัฒนา และให้พัฒนาเมืองระยองเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของนักลงทุน

ทั้งนี้ จากความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จะนำไปพิจารณาปรับปรุงและจัดลำดับความสำคัญโครงการ แล้วส่งให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการอีอีซี เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป

นายอิทธิ แจ่มแจ้ง ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดระยอง กล่าวว่า ข้อเสนอของชุมชน ต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-ระยอง” ระยะทาง 194 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการโดยเร็วเพราะปัจจุบันพื้นที่มาบตาพุด เป็นแหล่งการพัฒนาอุตสาหกรรม ขาดระบบการขนส่งมวลชนที่ดี ทั้งที่เรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในแผนการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต

โดยชุมชนต้องการให้ตั้งสถานีรถไฟไว้ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่สถานีรถไฟความเร็วสูงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสนามบิน-กรุงเทพฯ- สุวรรณภูมิ โดยทางรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟความเร็วสูงมาบตาพุด ระยอง เสนอให้ใช้บริเวณพื้นที่ตั้งสถานีรถไฟเดิมหรือใกล้ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง โดยจะต้องหลีกเลี่ยงการตั้งสถานีไว้ในเขตชุมชนเมืองระยอง เพราะปัจจุบันมีปัญหาเรื่องอุทกภัยนํ้าท่วมในตัวเมืองระยอง และการจราจรติดขัดถึงขั้นวิกฤติยากต่อการแก้ไขอยู่แล้ว

อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อมการให้บริการของหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานีบริการทางด้านสุขภาพตำบล สถานศึกษา ยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น และมีการจัดสรรงบประมาณแบบสมดุล เนื่องจากในพื้นที่อีอีซี จะเกิดการหลั่งไหลของคนเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากนอกเหนือจากประชากรที่เป็นจริงตามทะเบียนราษฎร์ หลายเท่าตัว

ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ขยะล้นเมือง ระบบระบายนํ้า-นํ้าท่วมการจราจร สุขภาพชุมชน ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมฯลฯ สมควรให้จัดงบประมาณสนับสนุนแบบสมดุลให้กับท้องถิ่น เทศบาลและอบจ. ซึ่งต่างจากพื้นที่อื่นที่จัดสรรงบประมาณแบบรายหัวประชากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560