รถไฟฟ้ารางเบาโปรเจ็กต์หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค

26 ก.ค. 2560 | 07:22 น.
สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาตามแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะเมืองหลักในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา (หาดใหญ่) ขอนแก่น และนครราชสีมา ล่าสุด ขอนแก่น ทั้ง 5 พื้นที่เมืองขอนแก่นได้ตั้งชื่อหน่วยงานเพื่อจะเร่งขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทั้ง 5 เส้นทาง คือ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซีสเต็ม จำกัด เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการด้วยตนเอง

ในส่วนภูเก็ตนั้นล่าสุดได้มีการหารือร่วมกันระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กับทางจังหวัดภูเก็ตเพื่อเร่งผลักดันโครงการอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง วงเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทให้สามารถเปิดประมูลในปี 2561 ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา เส้นทางท่านุ่น-ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางราว 60 กิโลเมตร วงเงินลงทุนกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท สนข. เสนอกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รับไปดำเนินการศึกษาตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนพ.ศ.2556 ดังนั้นปี 2561 ยังมีลุ้นเปิดประมูลอีก 1 โครงการเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ตามแผนแม่บทกำหนดออกมาแล้ว 3 เส้นทาง มีทั้งบนดิน และอุโมงค์ ซึ่งสนข.อยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการรับฟังความเห็นประชาชนเนื่องจากมีแนวเส้นทางทั้งบนดินและอุโมงค์จึงส่งผลให้งบประมาณดำเนินการเพิ่มสูงมากอาจส่งผลให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและไม่ได้รับความสนใจในการร่วมลงทุนของภาคเอกชนที่จะส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไปอีก โดยคาดว่าคณะกรรมการกำกับการศึกษาจะประชุมสรุปได้ในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ หลังจากนั้นจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

[caption id="attachment_183605" align="aligncenter" width="428"] รถไฟฟ้ารางเบาโปรเจ็กต์หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค รถไฟฟ้ารางเบาโปรเจ็กต์หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค[/caption]

ด้านระบบการขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่าได้มีการศึกษาตามแผนแม่บทรองรับไว้แล้วจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 54 กิโลเมตร จำนวน 64 สถานี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด ก่อนที่จะเร่งนำเสนอสนข.เร่งผลักดันต่อไป

สำหรับในเมืองสงขลา(หาดใหญ่) นั้นได้มีการศึกษาระยะทางรวม 12.5กม. จำนวน 12 สถานี ค่าก่อสร้างราว 8,400 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน

ทั้งนี้แม้จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นดำเนินการแต่สนข.ก็ยังมีข้อพิจารณาอีกมากมาย ทั้งเรื่องงบประมาณ ข้อระเบียบกฎหมายต่างๆ ประการสำคัญจะต้องคิดรองรับไว้ในอนาคตอีกด้วยดังนั้นหากรัฐบาลสามารถเร่งผลักดันได้รวดเร็วเท่าไหร่ผลการกระตุ้น ทางเศรษฐกิจในหัวเมืองหลักก็จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560