นำเข้าอาหารทะเลพุ่ง 4.1 หมื่นล.อินโด-อียูจัดระเบียบทำขาดแคลนหนัก-ส่งออกกุ้งมั่นใจโต15%

25 ก.ค. 2560 | 23:51 น.
ผลพวงอินโดฯ-อียูจัดระเบียบประมง ทำวัตถุดิบอาหารทะเลไทยขาดแคลนหนัก ตัวเลขนำเข้ากุ้ง หมึก ปลาปีที่แล้ว กว่า 9.2 หมื่นล้าน ขณะครึ่งแรกปีนี้กว่า 4.1 หมื่นล้าน ด้านส่งออกกุ้งยังโตต่อเนื่อง สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยคาดปริมาณและมูลค่าปีนี้โตได้ 15%

รายงานจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมศุลกากร ถึงการนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลเพื่อใช้แปรรูปส่งออก และบริโภคในประเทศ ระบุว่าในปี 2559 ไทยมีการนำเข้ากุ้งสด(กุ้งไซซ์ใหญ่) ปลาหมึก และปลาชนิดต่างๆ จากต่างประเทศปริมาณรวม 1.63 ล้านตันมูลค่า 9.25 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.1 และ 21.8% ตามลำดับ ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีการนำเข้า 6.94 แสนตัน มูลค่า 4.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 9.7 และ 23.4% ตามลำดับ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.จากในปี 2557 อินโดนีเซียได้จัดระเบียบการทำประมงใหม่ (โดยยกเลิกระบบสัมปทานเปลี่ยนเป็นร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นแทน และไม่อนุญาตให้ขนปลาที่จับขึ้นที่ท่าเรือประมงของอินโดนีเซียกลับมายังไทย) ขณะที่ในปี 2558 สหภาพยุโรป(อียู) ให้ใบเหลืองไทยเพื่อให้จัดระเบียบการทำประมงใหม่ คุมเข้มเรือประมงในการจับปลา มีผลให้จำนวนเรือประมงและปริมาณวัตถุดิบลดลงไปอย่างมาก

“จากทั้ง 2 ปัจจัยหลักมีผลให้วัตถุดิบอาหารทะเลไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ และมีราคาสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปลากับปลาหมึก”

นายพจน์ยังเผยถึงภาพรวมการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากสุดในกลุ่มอาหารแช่เยือกแข็งช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ว่า มีการส่งออกปริมาณ 6.97 หมื่นตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% ขณะที่ด้านมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทอยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.7% และมูลค่ารูปดอลลาร์สหรัฐฯที่ 686 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.4% โดยตลาดส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูปของไทยช่วง 5 เดือนแรกที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป(27) สัดส่วน 37.6, 26.8, 6.6, 4.9 และ4.5% ตามลำดับ

[caption id="attachment_183610" align="aligncenter" width="458"] นำเข้าอาหารทะเลพุ่ง4.1หมื่นล.อินโด-อียูจัดระเบียบทำขาดแคลนหนัก-ส่งออกกุ้งมั่นใจโต15% นำเข้าอาหารทะเลพุ่ง4.1หมื่นล.อินโด-อียูจัดระเบียบทำขาดแคลนหนัก-ส่งออกกุ้งมั่นใจโต15%[/caption]

“ด้านผลผลิตกุ้งในปี 2560 เพื่อแปรรูปส่งออกคาดจะมีระหว่าง 3-3.2 แสนตัน จากในปี 2559 มีปริมาณ 2.7 แสนตัน ส่วนการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยในเชิงปริมาณ และมูลค่ารูปดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้คาดจะขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 15% ส่วนมูลค่ารูปเงินบาทคาดจะขยายตัวไม่เกิน 10% ผลพวงจากเวลานี้เงินบาทแข็งค่ามากจะทำให้รายรับการส่งออกกลับมาในรูปเงินบาทลดลง”

สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกกุ้งไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ ที่สำคัญคือ 1.มีผลผลิตกุ้งเพื่อแปรรูปมากกว่าในปีที่ผ่านมาจากอัตราการเลี้ยงรอดมากขึ้น กุ้งไซซ์ใหญ่ขึ้น และปัญหาโรคตายด่วน(EMS) คลี่คลายลง ขณะที่ราคากุ้งวัตถุดิบในประเทศปีนี้ไม่แกว่งตัวมาก เช่นราคากุ้งหน้าท่า อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ณ เวลานี้กุ้งขนาด 100 ตัว/กก. เฉลี่ยที่ 130-135 บาท/กก. เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงกุ้งอยู่ได้และมีกำไร จูงใจให้ลงลูกกุ้งเลี้ยง 2.ตลาดส่งออกหลักของไทยยังมีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ขณะที่ราคาสินค้ากุ้งส่งออกปีนี้ภาพรวมยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา เช่นราคาเฉลี่ยที่ส่งออกไปสหรัฐฯปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 5-6% ตามการแข็งค่าของเงินบาท และมีการส่งออกสินค้ากุ้งที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และ 3.หลายประเทศที่เป็นคู่แข่งขันส่งออกกุ้งยังมีปัญหาโรคระบาดและผลผลิตเสียหาย เช่น จีน เวียดนาม ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญที่ต้องจับตามองคือเงินบาทจะแข็งค่ามากไปกว่านี้หรือไม่ รวมถึงความเสี่ยงจากโรคระบาดในกุ้งที่ยังต้องเฝ้าระวัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560