“ประยุทธ์” ชี้! วางยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคน สนับสนุน EEC

21 ก.ค. 2560 | 23:00 น.
วันที่ 21 ก.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า รัฐบาลได้ประยุกต์พระราชโอวาท และพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษาดังกล่าว สำหรับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในภาพรวม และในการวางยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคน เพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ และแรงงานที่มีคุณภาพ ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

อาทิ ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ด้วย อาทิ การผลิตและพัฒนากำลังคน ในระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของทุกกิจกรรมใน EEC, การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาร่วมพัฒนาประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยอีกด้วย ที่สำคัญก็คือสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีขั้นตอนตาม “แผนแม่บท” ดังนี้

20170516023907 ขั้นแรก การสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของสังคม และประเทศชาติ โดยการสร้างให้ผู้เรียน มีความรอบรู้ มีทักษะรอบด้าน ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างเหมาะสม มีภูมิคุ้มกัน

ขั้นที่สอง มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปรับปรุงหลักสูตรให้รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง S-Curve และ New S-Curve ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพิ่มการฝึกอบรมเฉพาะทาง เพื่อสร้างความชำนาญ โดยจัดให้มี “ศูนย์ความเป็นเลิศ” และ “ศูนย์พัฒนาเฉพาะทาง” ร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ ด้วย

ขั้นที่สาม ก็คือการพัฒนาศักยภาพกำลังคน และสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้”  โดยมีแผนการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ ให้กับคนใน EEC “ทุกวัย”

ขั้นที่สี่ สร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมกัน โดยจูงใจให้นักเรียนเข้าเรียนด้านอาชีวศึกษามากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการทำงาน “ควบคู่” ไปกับการเรียน เพื่อสร้างรายได้ และประกันการมีงานทำ มีการจัดระบบช่วยดูแลนักศึกษา และสนับสนุนเงินทุน การศึกษากับผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย

ขั้นที่ห้า ก็คือการสร้างความตระหนักรู้ ถึงการสร้างการเติบโตและยกระดับคุณภาพชีวิต ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสร้างนิสัยในการใช้ทรัพยากร ความปลอดภัยในการทำงาน จรรยาบรรณอาชีพ และการทำงาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และขั้นสุดท้าย เป็นการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อเป็นการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยดำเนินการในหลายกิจกรรมพร้อมๆ กัน อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพของสถานศึกษา ให้มีความพร้อมเพื่อเข้าสู่ “ยุค 4.0” การสร้างฐานข้อมูลกำลังคน และประมาณการความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อจะสร้างความสมดุลและการบริหารจัดการ

20170516023908 มีการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงาน” สนับสนุนให้สถานศึกษาและสถานประกอบการได้หารือและทำงานร่วมกัน สำหรับสร้างคนที่ตรงกับความต้องการ และรองรับการปฏิบัติงานร่วมกันหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ EEC รวมทั้ง ส่งเสริมความร่วมมือกับสถานศึกษาต่างประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานไทย สู่สากลอีกด้วย