ญี่ปุ่นเล็งเพิ่มส่งออกเนื้อวัว หวังหลายประเทศอนุญาตนำเข้าได้อีกครั้ง

26 ก.ค. 2560 | 07:30 น.
หลังจากการระบาดของโรควัวบ้าส่งผลให้หลายประเทศระงับการนำเข้าเนื้อวัวจากญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 15 ปี เวลานี้หลายประเทศเริ่มกลับมาอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นอีกครั้งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตท้องถิ่นในการเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศ

รายงานจากนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า เนื้อวัวเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในประเภทสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์เมื่อปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.36 หมื่นล้านเยน และเนื้อสัตว์ได้รับการคาดหมายว่าจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล จาก 7.5 แสนล้านเยนในปี 2559 เป็น 1 ล้านล้านเยนในปี 2562

ในขณะที่หลายประเทศยังมีความกังวลต่อเนื้อวัวจากญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุโรควัวบ้าระบาดในปี 2544 แต่เวลานี้มีประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นที่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อวัวจากญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยสหภาพยุโรป (อียู) บราซิล และเมียนมา อนุญาตให้มีการนำเข้าได้แล้ว ขณะที่ไต้หวันคาดว่าจะเริ่มอนุญาตให้นำเข้าในเดือนกันยายน และออสเตรเลียภายในปีนี้เช่นกัน
ผู้ผลิตเนื้อวัวจากญี่ปุ่นมีความยินดีเป็นพิเศษที่จะเข้าถึงตลาดไต้หวันได้อีกครั้ง โดยเป็นที่คาดหมายว่าเนื้อวากิวจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคของไต้หวันที่คุ้นเคยกับรสชาติ เนื่องจากแต่ละปีมีชาวไต้หวันถึง 1 ใน 6 ที่เดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่น นอกจากนี้ ต้นทุนขนส่งที่ถูกเนื่องจากระยะทางที่ใกล้กันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เนื้อวากิวจากญี่ปุ่นเป็นที่น่าสนใจสำหรับไต้หวัน

ไต้หวันนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศเกือบ 95% โดยในปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเป็นซัพพลายเออร์อันดับ 1 ของไต้หวัน ตามมาด้วยออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

[caption id="attachment_183216" align="aligncenter" width="503"] ญี่ปุ่นเล็งเพิ่มส่งออกเนื้อวัว ลายประเทศอนุญาตนำเข้าได้อีกครั้ง ญี่ปุ่นเล็งเพิ่มส่งออกเนื้อวัว ลายประเทศอนุญาตนำเข้าได้อีกครั้ง[/caption]

คณะกรรมการอาหารและยาของไต้หวันระบุเงื่อนไขของการนำเข้าเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัวจากญี่ปุ่นว่า จะต้องมาจากวัวที่มีอายุไม่เกิน 30 เดือน เนื่องจากวัวอายุน้อยมีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อวัวบ้าน้อยกว่า อีกทั้งกระบวนการฆ่าและแปรรูปจะต้องดำเนินการในสถานที่ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล และเป็นวัวที่มีต้นกำเนิดที่ชัดเจน

เนื้อวากิวของญี่ปุ่นซึ่งมีลายหินอ่อนเป็นจำนวนมาก เป็นเนื้อที่มีรสชาติถูกปากชาวเอเชียมากกว่าชาวตะวันตกที่นิยมเนื้อวัวที่มีไขมันน้อย ด้วยเหตุนี้ตลาดเอเชียจึงเป็นตลาดส่งออกหลักของเนื้อวัวจากญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นรวมถึงผู้ผลิตเนื้อวัวหวังว่าจะสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดเอเชียได้ลึกขึ้น พร้อมๆ กับขยายตลาดไปสู่แห่งใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและอียูที่มีการบรรลุข้อตกลงกันไปเมื่อต้นเดือนนี้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้เนื้อวัวจากญี่ปุ่นเข้าสู่ยุโรปได้ง่ายขึ้น ด้วยกำแพงภาษีนำเข้า 12.8% ถูกลดลงเหลือ 0% ในทันที

โอกาสการส่งออกเนื้อวัวที่เพิ่มขึ้นน่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตจากภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากทางฮอกไกโด หรือทางตอนใต้อย่างคาโกชิมะ และมิยาซากิ รวมถึงเนื้อวัวจากแหล่งเฉพาะอย่างมัตสึซากะและมาเอซาวะ อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้นำเข้าเนื้อวัวจากญี่ปุ่นได้อีกครั้งไม่ได้หมายความว่าการส่งเนื้อวัวกลับเข้าไปจะเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างในกรณีของไต้หวันได้มีการกำหนดเงื่อนไขด้านความปลอดภัยอย่างเง้มขวด นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกที่ในญี่ปุ่นที่มีโรงงานแปรรูปที่ตรงตามมาตรฐานการนำเข้าที่กำหนด ซึ่งหมายถึงต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งเนื้อวัวไปแปรรูปในพื้นที่อื่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560