ฟิลิปปินส์กับโอกาส ในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

25 ก.ค. 2560 | 23:43 น.
MP20-3281-A ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก สืบเนื่องมาจากการเข้ามา?ของนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้ดำเนินนโยบายการยกเครื่องเศรษฐกิจและแผนการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.8% เป็น 6.8% ในปี 2559 และในไตรมาสแรกของปี 2560 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังขยายตัว 6.4% ซึ่งนับได้ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย

จากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุนในฟิลิปปินส์ก็มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้การลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2559 ลดลงเหลือเพียง 4.7% จาก 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 นำมาซึ่งรายได้และการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากนี้ จำนวนประชากรฟิลิปปินส์กว่า 100 ล้านคน (มากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานที่มีรายได้ ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นตลาดการค้าการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อตอบสนองชาวฟิลิปปินส์ผู้บริโภคอาหารถึง 5 มื้อต่อวัน

เมื่อกล่าวถึงตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม หลายท่านคงทราบกันดีว่า ฟิลิปปินส์มีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ แต่หลังจากปี 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เพิ่มการจัดเก็บภาษีบาปซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ราคาค้าปลีกของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในตลาดสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของฟิลิปปินส์ อาทิ ชา นม นํ้าอัดลม นํ้าดื่ม นํ้าหวาน และนํ้าผลไม้ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง จากการลงทุนภายในและจากต่างประเทศที่ขยายตัวขึ้น

MP20-3281-1 ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ายอดขายสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2556-2559 เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 219,300 ล้านเปโซ หรือประมาณ 4,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 286,200 ล้านเปโซ หรือประมาณ 5,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปี จำนวนกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า 30%

พฤติกรรมการบริโภคของชาวฟิลิปปินส์ซึ่งนิยมเครื่องดื่ม (Soft drink) ในทุกช่วงเวลาและดื่มในช่วงการบริโภคอาหาร 5 มื้อต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการดื่มเครื่องดื่มมีจำนวนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันนํ้าอัดลมบรรจุขวดลิตรเป็นที่นิยมสูงสุดในครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ ในขณะที่เครื่องดื่มสุขภาพ เช่น ชา นํ้าแร่ นํ้าผลไม้ นํ้าผลไม้คั้นสด ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสรักสุขภาพ

“ชาพร้อมดื่ม” เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งได้รับความนิยมมาก โดยในปี 2558 มียอดขายเติบโตสูงถึง 8% เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะยอดขายในร้านอาหารและโรงแรมซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 5% ชาที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ ชาผสมนํ้าผึ้ง และผสมสารแอนติออกซิแดนต์ ชาที่ไม่มีนํ้าตาลและแคลอรีตํ่า เป็นต้น ประเภทของชาที่ได้รับความนิยมได้แก่ ชาเขียว ชาแดง และชาขาว

ด้านตลาด “นํ้าผลไม้” ในฟิลิปปินส์ ก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกันแต่ต้องเป็นประเภทนํ้าผลไม้ 100% เนื่องจากกระแสรักสุขภาพและความต้องการเครื่องดื่มธรรมชาติที่ไม่มีสารเจือปนในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งมีกำลังซื้อสูง โดยนํ้าผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สับปะรด ส้ม และองุ่น

สำหรับสถิติการนำเข้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของฟิลิปปินส์ในช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคมปี 2559 นั้นมีมูลค่ากว่า 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 72.63% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 56.65% ฟิลิปปินส์จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทย เนื่องจากเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยได้รับการยอมรับในตลาดฟิลิปปินส์และมีช่องทางการกระจายสินค้าหลากหลายช่องทาง

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยซึ่งมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และมีข้อตกลงทางการค้าสินค้าของอาเซียน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าในภูมิภาคเหลือ 0% ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการจากประเทศนอกภูมิภาค ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาตลาด เพื่อคว้าโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของฟิปลิปินส์ต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560