รุมต้าน‘ยาแรง’ไพรมารีโหวต พรรคการเมืองเล็งส่งศาลตีความ

23 ก.ค. 2560 | 00:37 น.
ร้อนฉ่าขึ้นมาทันควันภายหลังตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้หารือนอกรอบกับตัวแทนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีข้อสรุปเบื้องต้นในการปรับเนื้อหาใหม่ โดยให้การจัดทำไพรมารีโหวตเป็นกิจการภายในของพรรค การเมืองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แต่มีการเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดใน 3 ประเด็นคือ

TP14-3281-c 1.กรณีดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอน หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

2.กรณีมีการสัญญาว่าจะให้คุกคาม ใส่ร้ายด้วยข้อความเป็นเท็จ จูงใจให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยม มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

และ 3.หากทำผิดในกรณีเรียกรับผลประโยชน์มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรค

ข้อสรุปดังกล่าวเตรียมที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาทักท้วง เนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นยุบพรรค

[caption id="attachment_183148" align="aligncenter" width="490"] TP14-3281-a นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[/caption]

++ยุบพรรคหายนะทางการเมือง
จากข้อกำหนดโทษพรรคการเมืองที่รุนแรงดังกล่าว นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การนำเอาโทษอาญาและการเมืองมาใส่ไว้ในขั้นตอนไพรมารีโหวต เทียบเคียงกับการเลือกตั้งนั้นถือเป็นหายนะทางการเมือง เพราะระบบไพรมารีโหวตเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเริ่มเป็นครั้งแรก ควรให้พรรคการเมืองดำเนินการและมีพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วมีบทลงโทษอาญา “ยุบพรรค” ก็จะเป็นการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่สุจริต ซึ่งจะมีการตั้งตัวปลอมมาบริหารส่วนตัวจริงเป็นมาสเตอร์มายด์ชักใยอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการทำลายพรรคการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้แตกแยกตั้งแต่ในระดับพื้นที่ ซึ่งในพรรคจะได้มีการหารือกัน และเห็นว่าจำเป็นต้องเสนอความเห็นแย้งไปยังกรรมาธิการ 3 ฝ่ายให้ทบทวนเรื่องนี้

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คัดค้านระบบไพรมารีโหวต เราทดลองทำมาก่อนแล้วแต่มีปัญหา หากจะให้ดำเนินการก็ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่มากำหนดบทลงโทษรุนแรงตั้งแต่ต้น ถ้ากฎหมายออกมากดหัวกันอย่างนี้ ผมคนหนึ่งที่จะไม่รับตำแหน่งรองหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคอีก เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องโทษอาญา อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่กลั่นแกล้งกันได้ด้วย และเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ไม่สุจริตก็จะส่งตัวปลอมไปเป็นผู้บริหารแทน ทำให้พรรคการเมืองไม่ใช่ของจริงในระบบการ เมืองอีกต่อไป ส่วนคนสุจริตก็จะหมดกำลังใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ กับการพัฒนาพรรคการเมือง การกำหนดโทษให้การทำผิดของบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคก็ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ผมจะเสนอให้หัวหน้าพรรคทำความเห็นทักท้วงไปยังกรรมาธิการ 3 ฝ่ายต่อไป”

[caption id="attachment_183147" align="aligncenter" width="503"] นิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา[/caption]

++“นิกร”ขู่ส่งศาลรธน.ตีความ
ขณะที่นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การกำหนดบทลงโทษกรณีกระทำผิดในขั้นตอนไพรมารีโหวตโดยมีทั้งโทษอาญาและตัดสิทธิการเมืองเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่ถึงขั้นที่กำหนดให้ความผิดเฉพาะตัวบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคด้วยนั้น น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าเมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม 3 ฝ่ายแล้วประเด็นดังกล่าวจะตกไป เพราะกรธ.ไม่น่าจะยอมให้ผ่าน เนื่องจากขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้การยุบพรรคทำได้โดยง่าย จึงบัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคไว้เฉพาะกรณีกระทำผิดต่อรัฐในเรื่องการกระทำผิดเพื่อให้ได้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหากเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ก็จะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่นอน เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

++ไม่ควรบังคับใช้เลือกตั้งปี61
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ให้มุมมองว่า หลักการในเรื่องไพรมารีโหวต ถ้ามีเป้าหมายเพื่อทำให้พรรคการเมืองมีความแข็งแรง และเป็นตัวแทนสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง มันก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าถ้าจะให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป ในขณะที่กฎหมายไม่ว่ากฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เรียบร้อย คิดว่าเป็นเรื่องฉุกละหุกเกินไปที่จะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายจะออกมา เพราะมันทำไม่ทัน ไม่ว่าในส่วนของภาครัฐ พรรคการเมือง ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ในที่สุดการเลือกตั้งในรอบนี้ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ได้เลย

“ถ้าจะกำหนดให้ต้องทำทุกประการในรอบการเลือกตั้งครั้งนี้ สมมติให้เลือกตั้งเร็วที่สุดกลางปี 2561 แค่ปีเดียวไม่มีทางทำได้ทัน ในที่สุดก็แปลว่าการบังคับใช้กฎหมายเอามาตรการเข้มข้นตั้งแต่ตอนแรกมันก็จะทำให้เกิดความเสียหายไปข้างหน้า แต่ถ้ายืนยันจะเอาตามนี้จริง ในที่สุดก็ต้องตามใจของผู้มีอำนาจอยู่แล้ว เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติตามร่างที่ผู้มีอำนาจกำหนดไว้อยู่แล้ว เป็นไปได้ไหมว่าให้เขียนในบทเฉพาะกาลว่า ในการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ต้องใช้ หรืออาจจะใช้ในบางเรื่อง บางเรื่องให้ใช้ในการเลือกตั้งรอบต่อไป เป็นต้น”

ปัญหาตอนนี้คือผู้ที่จะไปลงเลือกตั้งคราวหน้า ไม่ใช่คนร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ร่างไปตามจินตนาการที่เขามีอยู่ ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าดูภาพรวมของพรรคการเมืองทั้งหลายไม่เห็นด้วยในสิ่งที่กำลังร่างอยู่ การทำไพรมารีโหวต ต้องใช้เวลาตามสมควร รอบนี้จึงไม่ควรมีเรื่องนี้ ถ้าตัดออกได้ก็ดี

นายศุภชัย กล่าวว่า การเขียนบทกำหนดโทษไว้สูงนั้น คนออกกฎหมายไม่ได้รับรู้สภาพความเป็นจริงในการบริหารพรรคการเมือง หรือบริหารสาขาพรรค โดยฉพาะการบริหารสาขาพรรคมันไม่ได้ง่าย การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค มันยังไม่มีความคึกคักมากมายอย่างแท้จริง สมาชิกพรรคก็คือชาวบ้าน ยิ่งในต่างจังหวัดคนที่มาเป็นสมาชิพรรคเป็นคนระดับกลางลงล่าง แต่ระดับกลางขึ้นมาระดับสูงมันน้อย เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากนัก ขณะที่คนระดับล่างจะมาด้วยหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันจะให้เขามีความสามารถในการบริหารสาขาพรรคอย่างเต็มที่ โดยไม่มีพรรคการเมืองเป็นพี่เลี้ยงเป็นไปไม่ได้

**กรธ.ส่อทบทวน‘ยุบพรรค’
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ระบุว่า กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายจะรับฟังคำทักท้วงของพรรคการเมืองเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการแก้ไขร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะทบทวนกรณีการยุบพรรค เพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ยุบพรรคยากขึ้น เนื่องจากถือว่าเป็นโทษประหารทางการเมือง

ส่วนการเพิ่มโทษอาญาและโทษทางการเมืองไว้ในการทำผิดชั้นไพรมารีโหวตเทียบเท่ากับการทุจริตเลือกตั้งนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมทั้ง ผู้ที่กระทำผิด และไม่คิดว่าจะ เป็นการเขียนกฎหมายที่เกินไปกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560