สนข.รับฟังความเห็นแผนผุด Logistics Hubจ.พิษณุโลก

21 ก.ค. 2560 | 07:32 น.
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)จัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก(Logistics Hub) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องแกรนด์บอลรูมโรงแรมเรือนแพรอยัลปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานร่วมและมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานสัมมนาจำนวนประมาณ 100 คน

log4

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคและในอาเซียนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) กำหนดเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาให้ประเทศไทย

มีบทบาทหลักในภูมิภาคทั้งด้านโลจิสติกส์ การค้า การบริการ และการลงทุนเป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญในภูมิภาคเอเชีย กลุ่มอาเซียน และอนุภูมิภาค เป็นระบบห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียนมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการพัฒนาสร้างความพร้อมภายในประเทศ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้จะต้องสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างภายในประเทศทั้งระดับประเทศ และภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ

log3

จากกรอบแนวคิดเบื้องต้นของการศึกษาสามารถแบ่งรูปแบบ Logistics Hub ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1) ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transport Logistics Hub) เป็นพื้นที่ดำเนินการบรรจุภัณฑ์รับฝากและกระจายสินค้ารวมถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 2) ศูนย์การค้าส่งค้าปลีกและโลจิสติกส์ (Trade Logistics Hub) เป็นพื้นที่ดำเนินการซื้อขายสินค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งควบคู่ไปกับการกระจายสินค้า 3) ศูนย์ผลิตอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ (Industrial Logistics Hub) เป็นพื้นที่ให้บริการโลจิสติกส์ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการขนส่งและกระจายสินค้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่โดยรอบมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางโลจิสติกส์และ 4) เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park /Freight Village) รัฐเป็นผู้กำหนดพื้นที่ในการทำกิจกรรมโลจิสติกส์ภายในมีการแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเช่าหรือซื้อ โดยผู้บริหารศูนย์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารและทำการตลาดรวมถึงติดต่อให้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาในพื้นที่

log

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและภูมิภาค คาดว่าจะส่งผลให้รายได้มวลรวมของจังหวัด GDP มีอัตราสูงขึ้นมากกว่าอัตราการขยายตัว 3.7 % และคาดว่าเศรษฐกิจของจังหวัดจะเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้สู่จังหวัดประมาณ 4,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 รวมถึงเพิ่มศักยภาพของจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภายหลังการสัมมนาฯครั้งที่ 1 สนข. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) ต่อไป

log1

ด้านนายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยที่มีความพร้อมในด้านภูมิประเทศ ซึ่งศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่างเชื่อมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญอยู่ในแนวเส้นทาง North – South Economic Corridor (NSEC) และ East – West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนใต้จึงทำให้จังหวัดพิษณุโลกมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าการบริการในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านได้ และเกิดการยกระดับศักยภาพของจังหวัดพิษณุโลกให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

log2

ดังนั้น จังหวัดพิษณุโลกและสนข. จึงร่วมกันดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก(Logistics Hub) เพื่อศึกษาศักยภาพการพัฒนาและปัจจัยที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลกที่ว่า “เมืองบริการเศรษฐกิจและสังคมสี่แยกอินโดจีน”