ปปช.ปูด 3 กลุ่มใหญ่ทุจริตเบิกจ่ายยารักษาพยาบาลขรก.

20 ก.ค. 2560 | 12:24 น.
ป.ป.ช. ปูด 3 กลุ่มใหญ่“ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ- บุคลากรในสถานพยาบาล-บริษัทยา” ร่วมขบวนการทุจริตเบิกจ่ายยารักษาพยาบาล ขรก. แนะตั้งศูนย์ประสานข้อมูลยาเพื่อตรวจสอบสิทธิ

[caption id="attachment_182646" align="aligncenter" width="503"] นายสรรเสริญ  พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.[/caption]

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ใช้งบประมาณ 71,016 ล้านบาท ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมอบหมายให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรมบัญชีกลาง เป็นต้น

“ได้ข้อมูลว่าระบบการควบคุมการเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาลเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายปัจจัย และเกี่ยวข้องโยงใยเครือการทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาล รวมทั้งกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา”

ทั้งนี้พฤติการณ์แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ การช้อปปิ้งยา โดยกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ ตระเวนใช้สิทธิตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หลายแห่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อขอรับยาเกินแล้วนำมาขายต่อ และการยิงยา คือ บุคลากรในสถานพยาบาลสั่งจ่ายยาเกิน หรือยาที่ไม่มีความจำเป็นกับผู้ป่วยเพื่อทำยอด และร่วมกับบริษัทจำหน่ายยา มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม หรือการดูงานต่างประเทศ

“คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว เสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเพื่อป้องกันการซื้อยา โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน และต้องนำหลักจริยธรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา รวมกับกฎหมายของ ป.ป.ช.มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้ออย่างเคร่งครัด”

มีรายงานว่า ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือตอบกลับถึง ประธาน ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน