ธปท.รับคุยแบงก์ลดค่าเฮดจ์จิ้ง

20 ก.ค. 2560 | 10:16 น.
ธปท.ยันเงินบาทแข็งค่าตามกระแสเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ชี้สอดคล้องกับภูมิภาค แนะผู้ประกอบการป้องกันเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เผยคุยกับสมาคมธนาคารไทยเรื่องปรับค่าธรรมเนียมเฮดจ์จิ้ง ระบุแบงก์ปรับโปรดักต์-เครื่องมือตามกลุ่มลูกค้า ยันกำไรไตรมาส 2 แบงก์พาณิชย์ลด เหตุมีหนี้เสียบางกลุ่มเพิ่ม-ตั้งสำรองสูง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับค่าเงินบาท เพราะว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุจากความไม่มั่นใจด้านการเมืองของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลในโลก และค่าเงินบาทก็เหมือนกับสกุลอื่นในภูมิภาคที่ได้ปรับแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทั้งปัจจัยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงหลังที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของตลาด รวมทั้งการสืบสวนคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Trump ที่อาจจะทำให้ความมั่นใจในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องชะลอออกไป ทำให้มุมมองต่อเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาก

[caption id="attachment_182756" align="aligncenter" width="503"] นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกก็ได้ตื่นตัวและประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง เหมือนที่ธปท.ได้เตือนโดยต่อเนื่องในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เป็นเรื่องสำคัญ และก็เป็นปัจจัยที่มาจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศ ส่วนประเด็นการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนธปท.ได้คุยกันโดยต่อเนื่อง และหลายแห่งก็อยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยน และดูเครื่องมือให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ เพื่อปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม

ทั้งนี้ การป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีลูกค้าธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงแต่เลือกที่จะไม่ทำ เมื่อถึงเวลาที่ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวก็จะมาทำพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้ค่าเงินเคลื่อนไหวแรงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นอยากจะให้ธุรกิจที่เคยทำหรืออาจจะทำเป็นครั้งเป็นคราว คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่ต้องมีการป้องกันความเสี่ยง เปรียบเหมือนเวลาที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องซื้อประกันขนส่งต่างๆ การประกันความเสี่ยงก็ควรจะเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจต่างประเทศ เพราะว่าในสภาวะข้างหน้าจะเห็นความผันผวนของค่าเงินต่อเนื่อง

“เรื่องการปรับลดค่าธรรมเนียมเฮดจ์จิ้ง ตอนนี้แต่ละแบงก์ก็ดูอยู่ เพราะแบงก์แต่ละแห่งก็มีค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน แต่ก็มีการพูดคุยกันกับสมาคมธนาคารไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เราอยากให้การทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยชิน เพราะถ้าทุกคนค่อยๆ ทำก็จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินแรง แต่หากมาทำพร้อมกันจะเห็นค่าเงินผันผวนได้”

ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาในไตรมาสที่ 2 อาจจะมีบางธนาคารที่มีรายการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ได้กลายเป็นหนี้เสียเลยทำให้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจจะมากขึ้นกว่าไตรมาสที่ 1 ทำให้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับลดลง เพราะมีการตั้งสำรองที่สูง จึงทำให้กำไรลดลงได้ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะ

ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนดีขึ้น จะเห็นว่าธปท.ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และปี 2561 และตัวเลขส่งออกก็ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเอ็นพีแอลเป็นตัวเลขที่ตามหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้การฟื้นตัวอาจจะยังไม่กระจายตัว อาจจะมีบางภาคที่ได้รับผลกระทบสะสมต่อเนื่องมา อาจจะทำให้เอ็นพีแอลมีทิศทางที่ขยับตัวเพื่อขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินก็มีเงินสำรองอยู่ในระดับสูง กำไรที่ทำได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องตั้งสำรองมากขึ้นก็ต้องไปเพิ่มสำรองอย่างที่เห็นในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ากังวล