SSG อุ้มจีสตีลพ้นวิกฤติเบื้องหลังบิ๊กดีลปรับโครงสร้างหนี้ เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตเท่าตัว

20 ก.ค. 2560 | 06:51 น.
แม่-ลูก จีสตีล และ จีเจสตีล ปรับโครงสร้างหนี้ครั้งสำคัญใหญ่สุดรอบหลายปี รอดพ้นวิกฤติหนี้ เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตเท่าตัว เบื้องหลังเปิดทางกลุ่ม SSG ถือหุ้นใหญ่ระยะยาว ดึงอดีตทีมบริหารอาร์เซลอร์ มิตตัล ร่วมเทิร์นอะราวด์

บิ๊กดีลปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจีสตีลฯ (GSTEL) และ จีเจสตีล (GJS) ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนรายใหญ่ของประเทศไทย มูลค่าการปรับโครงสร้างหนี้ของทั้ง 2 บริษัท กว่า 11,121 ล้านบาท แบ่งเป็นเจ้าหนี้การค้าของ GSTEL จำนวน 7 ราย ยอดหนี้ 7,878 ล้านบาท และจีเจสตีล เจ้าหนี้การค้า 4 ราย ยอดหนี้ 3,223 ล้านบาท โดยทั้ง 2 บริษัท เพิ่มทุนออกหุ้นสามัญใหม่ เพื่อใช้แปลงหนี้เป็นทุนให้กับกลุ่ม SSG เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เบียดสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของนายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ลงมา โดยที่นายสมศักดิ์ เปิดทางสะดวกให้กับกลุ่ม SSG

นับตั้งแต่ปี 2008 หรือ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เกิด วิกฤติ Sub prime จีสตีล มีหนี้การค้าก้อนใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้ หนี้ที่สำคัญมากเป็นหนี้ของบริษัท Cargill มูลหนี้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,450 ล้านบาท ซึ่งหนี้จำนวนนี้ เป็นคดีความในขั้นฎีกา เป็นก้อนหนี้ที่อันตราย หากคำสั่งศาลออกมา จะทำให้ส่วนทุนของผู้ถือหุ้นติดลบทันที บริษัทมีฐานะล้มละลาย!! ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “สมศักดิ์” หรือผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นๆ พึงประสงค์

ผลของการแปลงหนี้เป็นทุนครั้งนี้ หนี้หายไปกว่าหมื่นล้านบาท มีเงินใหม่เข้ามาหมุนเวียน กดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ GSTEL ลดฮวบฮาบจากเดิม D/E ณ ปลายปี 2559 อยู่ที่ 30 เท่า เหลือเพียง 1.06 เท่า การปรับโครงสร้างหนี้ไตรมาส 1 และ ไตรมาส 3 หนี้รวม 8,720 ล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน 4,270 ล้านบาท ที่เหลือลดหนี้ให้ (haircut) 4,450 ล้านบาท คงเหลือหนี้ปกติ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทยอยชำระ 5 ปี ดอกเบี้ย 12%

การเพิ่มทุนปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ ทำให้จำนวนหุ้นและทุนจดทะเบียนที่เพิ่มมากของ GSTEL เพราะมี GSTEL-W 1 และ W 2 แต่ถ้า exercise สิทธิที่ 2.75 บาท ถ้าปรับสิทธิหมด 1.48 บาท ส่วน W 3 ไม่ได้เทรดในตลาด ราคาแปลงสภาพ 2.15 บาท หลังปรับสิทธิ 1.20 บาท

ขณะที่ GJS ปรับโครงสร้างหนี้ไตรมาส 1 กับไตรมาส 3 รวม 3,500 ล้านบาท มีการแฮร์คัต 700 ล้านบาท เหลือหนี้ประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งหนี้ 1,400 ล้านบาท จะแปลงเป็นทุนอีก 1,400 ล้านบาท แปลงเป็นหนี้ระยะยาว 5 ปี ผลของ GJS ทำให้ D/E เหลือ 0.34 เท่า จากปลายปีที่ผ่านมา D/E 0.5 เท่า แต่ที่ดีขึ้นมากคือ อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current ratio) จาก 0.65 เท่า ในไตรมาส 1 นี้ จะเพิ่มเป็น 1.53 เท่า ในไตรมาส 3 ถือว่าสภาพคล่องดีขึ้นมากจากเงินทุน หมุนเวียนที่เข้ามา 2,000 ล้านบาท

ผลดีการแก้หนี้ทั้ง 2 โรง เสกหนี้ที่กดเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกิจการ กระทั่งหนี้ที่เหลือเป็นหนี้ปกติ พร้อมกับเงินทุนเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องของทั้ง 2 โรงเหล็ก ให้กลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ ผลิตเหล็กได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพิ่มกำลังผลิตจากปกติ 6 แสนตัน/ปี เป็นเท่าตัว 1.2 ล้านตัน/ปี ในปี 2561

การเพิ่มทุนทั้ง 2 บริษัท เปิดทางกลุ่ม SSG (เจ้าหนี้)ที่แปลงหนี้เป็นทุนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ GSTEL สัดส่วน 76% และหุ้นใหญ่ GJS สัดส่วน 43% จะเห็นว่า SSG ไม่ได้มาแค่เงิน แต่ติดพันธมิตรธุรกิจ อย่าง Synergy เข้ามาช่วยเทคโนโลยีการผลิต การตลาดด้วย โดยเฉพาะ Synergy เป็นอดีตทีมบริหารอุตสาหกรรมเหล็กชั้นนำของโลกอย่างอาร์เซลอร์ มิตตัล มาแล้ว

MP17-3280-A ++SSG เป็นใคร???
SSG เป็นอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาช่วยอุ้ม “สมศักดิ์& จีสตีล” เป็นนิติบุคคลและกองทุนการเงินจากฮ่องกง มีกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารคือ ACO I อายุกองทุน 5-7 ปี กลุ่ม SSG มีความชำนาญ และเน้นลงทุนบริษัทที่มีปัญหาการเงิน ตลอดจนหนี้สินจำนวนมาก โดยเชี่ยวชาญการบริหารจัดการหนี้ การปรับปรุงธุรกิจกลับมาเทิร์นอะราวด์ ความพิเศษของกองทุนนี้ ไม่ใช่แค่เงินที่เข้ามาอุ้มธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาเท่านั้น SSG ยังสามารถติดต่อกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งกรณีของกลุ่ม GSTEL เป็นอุตสาหกรรมเหล็ก SSG จึงได้นำ กลุ่มบริษัท Synergy ซึ่งอดีตเคยบริหารงานในอาร์เซลอร์ มิตตัล บริษัทผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของโลก เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตเหล็กคุณภาพสูงและการตลาด

++เบื้องหลังลงทุนจีสตีล
กลุ่ม SSG เป็นกองทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาหาโอกาสการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในประเทศไทยกองทุนนี้เข้ามาซื้อพอร์ตลงทุน อัลฟา แคปปิตัล จาก จีอี แคปปิตอล ของสหรัฐฯ โดยพอร์ตอัลฟาที่ซื้อไป มีโรงไฟฟ้าซิฟโก้ ที่ขายไฟฟ้าให้กับโรงเหล็กของจีสตีลอยู่ด้วย จึงเห็นโอกาสการลงทุนในการซื้อหนี้ของโรงเหล็กนี้ และเริ่มเข้ามาช่วยซื้อหนี้ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ SSG และพันธมิตร Synergy จะอุ้มกลุ่มจีสตีลสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 31 สิงหาคมนี้ผู้ถือหุ้นจะไฟเขียวหรือไม่ เป็นตัวชี้วัดอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560