ไทยแห่ซื้อกิจการตปท.พุ่ง 42%

21 ก.ค. 2560 | 04:00 น.
ไทยพาณิชย์ ห่วงบริษัทไทยแห่ซื้อกิจการต่างประเทศพุ่งกระทบจีดีพีโตตํ่า เผยในรอบ 3 ปี สัดส่วนพุ่งจาก 30% เป็น 42% ชี้ภาคผลิตหันทำ M&A สูง 63% ของเงินลงทุนทั้งหมด ลั่นไม่ขยายสินทรัพย์ถาวรใหม่ กระทบตัวเลขการผลิตใหม่-จ้างงานไม่เกิด กดดันลงทุนภาคเอกชนซบเซา หวังโครงการอีอีซีดึงดูดนักลงทุนกลับ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณภาคธุรกิจชะลอการลงทุนในแบบเดิมๆ หรือการลงทุนสินทรัพย์ถาวรมากขึ้น เช่น การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ หรือการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ แต่มีแนวโน้มในการขยายการลงทุนด้วยการควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสัญญาณที่เกิดขึ้นมองได้ 2 มิติ คือ ภาคเอกชนหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯยังคงลงทุนอยู่ แต่การลงทุนจะอยู่ในมิติ M&A มากขึ้นเนื่องจากการทำธุรกิจโดยการหาฐานลูกค้าใหม่ทำได้ยากขึ้น จึงต้องการขยายการลงทุนที่มีฐานลูกค้าเดิมไว้อยู่แล้ว

[caption id="attachment_97955" align="aligncenter" width="335"] พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์(อีไอซี) พชรพจน์ นันทรามาศ
ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์(อีไอซี)[/caption]

ทั้งนี้จากแนวโน้มการลงทุนที่เปลี่ยนไปดังกล่าว สะท้อนผ่านสัดส่วนของเงินทุนเพื่อควบรวมกิจการต่อเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากระดับ 11% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 42% ในปี 2560 และหากดูตัวเลขในช่วง 3 ปีก่อนช่วงในปี 2556 สัดส่วนอยู่ที่ระดับ 30% โดยเฉพาะบริษัทในธุรกิจการผลิตมีสัดส่วนเงินลงทุนใน M&A สูงถึง 63% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ส่วนธุรกิจในภาคบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น มีทิศทางการลงทุนใน M&A เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนอาจไม่สูงเท่ากับภาคการผลิต เนื่องจากบริษัทในภาคบริการยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ เช่น การขยายโครงการใหม่ โรงแรมใหม่ เป็นต้น

ดังนั้นหากดูเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่จะพบว่า ธุรกิจบริการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ภาคการผลิตกลับทรงตัว โดยตัวเลขเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ของภาคบริการในช่วงปี 2556-2559 เฉลี่ยเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ขณะที่ภาคการผลิตเงินลงทุนเฉลี่ยในช่วง 3 ปีมีอัตราการติดลบ 0.3%

อย่างไรก็ดี การทำ M&A ที่ขยายตัวเร็วขึ้นมาจากหลายปัจจัยและเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เริ่มมีอัตราการเติบโตช้ากว่าในอดีต เช่น ญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นมีการทำ M&A จำนวนมาก เฉลี่ยกว่า 2,000 รายการต่อปี และมีมูลค่าการทำ M&A เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% นับตั้งแต่ปี 2548-2559

สำหรับมูลค่ารวมของการออกไปควบรวมกิจการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแซงหน้ามูลค่าการควบรวมกิจการในไทย อีกทั้งมูลค่าเฉลี่ยในการควบรวมกิจการแต่ละครั้งยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2556-2559 มูลค่าการควบรวมกิจการในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท

ขณะที่การควบรวมกิจการต่างชาติมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีรายการขนาดใหญ่มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทกว่า 10 รายการ ซึ่งสอด คล้องกับข้อมูลที่รายงานจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทไทยมากกว่า 90% เป็น การลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศไม่ใช่การลงทุนเองโดยลำพัง

ทั้งนี้การลงทุนผ่านการ M&A มีทิศทางจะเพิ่มขึ้นได้ตามสัญญาณการซื้อกิจการของภาคธุรกิจที่ค่อนข้างเร็วขึ้นในปัจจุบัน และจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของการลงทุนของภาคธุรกิจ ส่งผลให้ความต้องการในการใช้ปัจจัยการผลิตใหม่ รวมถึงการจ้างงานมีทิศทางขยายตัวน้อยลง ซึ่งในระยะยาวจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้การลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา และจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560