ธปท.อุ้ม SMEs สู้บาทจี้ลดต๋งประกันเสี่ยงบาทแข็งสุด26เดือน

22 ก.ค. 2560 | 01:00 น.
แบงก์ชาติออกโรงเจรจารายธนาคารหาช่องลดค่าธรรมเนียมประกันความเสี่ยงค่าเงินให้ลูกค้าเอสเอ็มอี เล็งดึงบสย.ช่วยคํ้าประกันอีกทาง คาดได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ส่วนแบงก์โอดค่าต๋งรายย่อยตํ่าแล้วแถมต้องแบกรับความเสี่ยงค่าเงินผันผวนไว้เองระหว่างรอธุรกรรม ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 26 เดือน

ปัญหาการเข้าไม่ถึงการประกันความเสี่ยงค่าเงินของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้ารายกลางและรายเล็ก(เอสเอ็มอี) กำลังได้รับการแก้ไข เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รับเป็นเจ้าภาพในการเจรจากับธนาคารพาณิชย์รายธนาคารเพื่อหาเครื่องมือและวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ค่าธรรมเนียมที่ยังมีความแตกต่างกันสูงมากเมื่อเทียบกับรายใหญ่ให้ลดลงมาอยู่ระดับที่เป็นธรรม และจูงใจให้เอสเอ็มอีทำประกันความเสี่ยงมากขึ้น

ขณะที่ค่าเงินบาทต้นสัปดาห์นี้ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือน อยู่ที่ 33.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอ ความไม่แน่นอนนโยบายการเงิน ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่รวดเร็ว เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วแข็งค่าถึง 30 สตางค์ และเทียบจากต้นปีเงินบาทแข็งค่าแล้ว 4-5% เงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็วจะกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงน้อยกว่ารายใหญ่

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไป และพยายามให้ความรู้ด้านการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Heaging)

“จะให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมการทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำจริงจังมากขึ้นผ่านการดูเป็นรายธนาคารว่ามีค่าธรรมเนียมเท่าไร มีช่องว่าง Space เท่าไร เราพยายามทำให้เร็วที่สุด”

[caption id="attachment_55991" align="aligncenter" width="370"] เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมธี สุภาพงษ์
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

นายเมธี กล่าวว่ารายเล็กจะมีความเสี่ยงสูงกว่า การคิดค่าธรรมเนียมก็จะสูงกว่าปกติ แต่ไม่ควรสูงเกินควร เพราะรายเล็กจะถูกเรียกหลักประกันก็จะช่วยลดค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผล ซึ่งหลักประกันจะเป็นทั้งเงินฝาก วงเงินสินเชื่อที่แปลงเป็นหลักประกันได้ เพราะจะมีสินเชื่อหมุนเวียนเกิดขึ้น

“เราต้องเข้าไปดู และกำลังพิจารณาว่าจะนำบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยคํ้าประกันได้หรือไม่ การที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ได้ ก็ถือว่ามีความสามารถระดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกับแบงก์ไทย คาดว่าอีกไม่นานจะได้ข้อสรุป”

นายฐานิศร์ ศาสตราวาหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการจอง Forward ปีนี้ค่อนข้างเงียบ
อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องค่าธรรมเนียมไม่ได้มีผลต่อการป้องกันความเสี่ยงของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันการคิดอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อป้องกันความเสี่ยงของธนาคารอยู่ในอัตราที่น้อยเต็มที่แล้ว เพราะการคำนวณจะอยู่กับความเสี่ยงและเครดิตของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีกรอบการคำนวณอยู่แล้ว

“ลูกค้ารายใหญ่ความเสี่ยงน้อย และมีปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก อำนาจต่อรองสูง มีการเรียกให้หลายธนาคารเข้ามาประมูลในอัตราที่ตํ่าที่สุด ขณะที่รายเล็กมีความเสี่ยงและปริมาณธุรกรรมน้อยกว่าเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาท ซึ่งธนาคารจำเป็นต้องรอจำนวนให้ได้ตามกำหนด จึงจะสามารถเข้าไปทำธุรกรรมในตลาดได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อธนาคารในช่วงรวบรวมปริมาณให้ได้ตามจำนวน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนวณค่าธรรมเนียมสูงกว่ารายใหญ่”

MP28-3280-A แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวว่า เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาห กรรมสมาคมธนาคารไทยและธปท.ที่ได้รับโจทย์จากรองนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีรายเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน โดยพยายามให้สมาคมธนาคารไทยลดค่าธรรมเนียมในการซื้อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะเดียวกันให้บสย.ขยายการคํ้าประกันสินเชื่อเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 23.75% ซึ่งการหารือในสมาคมธนาคารเบื้องต้น ภาครัฐต้องการให้ลดส่วนต่างของค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560