แอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-ดอนเมือง ควบรวมไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง

22 ก.ค. 2560 | 14:20 น.
รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้ารวมเอาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง และโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นโครงการเดียวกัน มีผู้เดินรถรายเดียวกัน และเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้าสนามบินอู่ตะเภาให้ครบทั้ง 3 สนามบินอีกด้วย

ล่าสุดยังอยู่ในการเร่งผลักดันของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่ให้ออกแบบเชื่อม 3 สนามบินดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนออกแบบรายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

โดยแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองใช้ระบบรางขนาด 1.435 เมตรที่สามารถรองรับความเร็วสูง ตามแผนแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงพญาไท-บางซื่อ ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 14 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีราชวิถี สถานีกลางบางซื่อ สถานีบางเขน สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมือง
ทั้งนี้ในการออกแบบได้มีการปรับแบบช่วงสถานีกลางบางซื่อให้พร้อมรองรับและให้สอดคล้องกับการใช้งานทั้งรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ตลิงค์ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เข้ากับการใช้ความเร็วสูงจึงมีการยกเลิกสถานีบางเขน และหลักสี่ออกไปคงเหลือไว้แต่สถานีบางซื่อและท่าอากาศยานดอนเมืองเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการปรับเพิ่มแนวก่อสร้างเส้นทางออกเป็น 2 ชั้นรองรับทั้งแอร์พอร์ตลิงค์และไฮสปีดเทรน

TP12-3280-a โดยตามแผนเดิมแอร์พอร์ตลิงค์จะให้บริการระบบรถธรรมดา 6 ชั่วโมงต่อวัน จอดให้บริการทุกสถานี และชั่วโมงเร่งด่วน 12 ชั่วโมงต่อวัน จอดรับ-ส่งเฉพาะสถานีบางซื่อและดอนเมืองเท่านั้น รถด่วนพิเศษให้บริการทุก 30 นาที ใช้ความเร็วเดินรถ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสถานีพญาไทจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยช่วงผ่านสถานีจิตรลดาจะเป็นรูปแบบอุโมงค์หรือเรียกว่ารูปแบบคลองแห้งที่จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงให้บริการร่วมด้วย

หากไม่มีการปรับแผนใดๆ เพิ่มเติมคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเนื่องจากจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมลงทุนที่จะพิจารณาเรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 ทั้งนี้เมื่อเริ่มงานก่อสร้างคาดว่ามูลค่าโครงการจะเพิ่มสูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทเฉพาะช่วงพญาไท-ดอนเมืองนี้

ดังนั้นจึงยังมีลุ้นกันอีกว่าเมื่อจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเพื่อแปรสภาพให้แอร์พอร์ตลิงค์ไปร่วมกับไฮสปีดเทรน สายกรุงเทพฯ-ระยองเพื่อเชื่อม 3 สนามบินก็คงจะต้องมีการปรับแผนและรายละเอียดกันอีกมากมาย ท้ายที่สุดยังเป็นเมกะโปรเจ็กต์อีก 1 โครงการที่ล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้อันเกิดจากปัญหาด้านเทคนิคและความไม่ชัดเจนในการขับเคลื่อนโครงการของรัฐบาลว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้บริหารจัดการแอร์พอร์ตลิงค์และไฮสปีดเทรนกันแน่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) หรือจะประเคนให้เอกชนรับไปดำเนินการแทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560