ดึงจีนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จ่อ MOU สนามบินเจิ้งโจวประเดิมเที่ยวบินนำร่อง

22 ก.ค. 2560 | 14:32 น.
สกรศ.จับมือกับสนามบินเจิ้งโจว จ่อลงนามเอ็มโอยู ร่วมกันพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเที่ยวบินและท่องเที่ยว ก่อนต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

การประกาศให้พื้นที่ 6,500 ไร่บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้กองทัพเรือและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(สกรศ.) ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักผลักดันให้เป็นรูปธรรม ซึ่ง 1 ในโครงการความสำเร็จจะเป็นความร่วมมือกับสนามบินเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภากับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางบก ทางนํ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่ง

โดยภายในช่วง 1-2 เดือนนี้ทางสกรศ.จะเดินทางไปเจิ้งโจวเพื่อไปลงนามเอ็มโอยูร่วมกันพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสกรศ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาเมืองการบินร่วมกับสนามบินเจิ้งโจว โดยจะเริ่มจากข้อตกลงด้านการแลกเปลี่ยนเที่ยวบินและด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน และต่อด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน ทั้งในส่วนของชิ้นส่วนอากาศยานสินค้าที่อาศัยการขนส่งทางอากาศที่มีกระบวนการผลิตอยู่ในพื้นที่ฟรี เทรดโซน และพื้นที่ข้างเคียง โดยคาดว่าจะดำเนินการลงนามความร่วมมือได้ในเร็วๆนี้ หลังจากที่แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบไปแล้ว

TP11-3280-A ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็น 1 ในแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน ที่เป็นการทำงานคู่ขนานกับโครงการต่างๆ ที่อยู่ในแผนการดำเนินงานในระยะแรก ที่จะเพิ่มศักยภาพของสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงขีดความสามารถของสนามบิน ได้แก่ โครงการก่อสร้าง High Speed Taxi Way และ Taxi Way เพิ่มเติม คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560และดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561แล้วเสร็จในปี 2562 การก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสนับสนุนต่างๆพร้อมระบบรักษาความปลอดภัยคาดจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคม 2560 แล้วเสร็จในปี 2561

การติดตั้งระบบสารสนเทศอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2ให้ทันสมัย เพื่อให้การขนถ่ายผู้โดยสารทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2560 และเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังที่2อย่างเต็มขีดความสามารถได้ในเดือนตุลาคม 2560

ส่วนการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบินอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO)ที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561 การก่อสร้างอาคารสินค้าภายใต้บันทึกข้อตกลงความเข้าใจกับบริษัทการบินไทยฯคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม2560 และเริ่มก่อสร้างในปี2561การก่อสร้างศูนย์ฝึกบุคลากรทางการบินภายใต้บันทึกข้อตกลงความเข้าใจร่วมกันกับสถาบันการบินพลเรือนคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม2560และเริ่มก่อสร้างในปี 2561และการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม2560และเริ่มก่อสร้างในปี 2561 เป็นต้น

TP11-3280-AA แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปอยู่ระหว่างการของบประมาณเพิ่มเติม30ล้านบาทจากได้รับแล้ว 70 ล้านบาทเพื่อมาจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนหรือพีพีพีที่คาดว่าจะได้ผู้ลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560