‘วิดีโอคอล’บุกตลาดสุขภาพ เว็บ ooca ดึงจิตแพทย์ให้คำปรึกษา-เป้าผู้ใช้พันราย/เดือน

21 ก.ค. 2560 | 23:17 น.
ooca เว็บไซต์และแอพพลิเคชันให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอ คอล ช่วยให้คนเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่าย หวังสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมไทยกับการพูดคุยปรึกษาจิตแพทย์ง่ายๆ ได้จากที่บ้าน ตั้งเป้าผู้ใช้งานไม่ตํ่ากว่า 1,000 รายต่อเดือน พร้อมทีมแพทย์ และนักจิตวิทยาผู้ให้บริการกว่า 50 ราย

ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้จัดการทั่วไปและผู้ก่อตั้ง ooca เว็บไซต์ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาการปรึกษา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ ooca ได้เปิดให้บริการคำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต สำหรับรูปแบบการให้บริการผู้ใช้สามารถเลือกนัดจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อพูดคุยขอคำปรึกษาได้ผ่าน Video call หรือแค่เพียงระบุปัญหาที่ต้องการขอรับคำปรึกษา จากนั้นระบบจะช่วยค้นหาและจับคู่ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการได้ ซึ่งระบบจะบันทึกประวัติการรับคำปรึกษาของผู้ใช้บริการ

[caption id="attachment_181206" align="aligncenter" width="503"] ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์[/caption]

โดยข้อมูลที่บันทึกไว้จะมีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความปลอดภัย Hash key รวมถึงมี firewall และ subnet เพื่อปกป้องการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอก และผู้ใช้บริการสามารถเป็นผู้กำหนดขอบเขตในการเข้าถึงข้อมูลของตนเองแก่แพทย์แต่ละท่านได้ สำหรับ ooca นั้นจะเป็นเพียงการให้คำปรึกษาเรื่องทั่วไปโดยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินและกรณีผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงไม่มีการจ่ายยาให้กับผู้รับคำปรึกษา แต่หากผู้ให้บริการพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะแนะนำให้ผู้ใช้บริการไปยังสถานพยาบาลที่มีผู้ให้บริการทางจิตเวชตามลำดับ

สำหรับจุดเริ่มต้นของ ooca นั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวในขณะที่ใช้ทุนอยู่ที่ต่างจังหวัดแล้วพบว่า เวลาที่มีความเครียดและต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะต่างจังหวัดจำนวนของบุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ทำให้เวลาที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตหรือเมื่อเกิดภาวะความเครียดต่างๆ จะต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพบกับจิตแพทย์ ซึ่งหลายคนที่เกิดภาวะความเครียดหรือไม่สบายใจ แค่ได้พูดคุยปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา ก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้โดยไม่ต้องพึ่งการทานยา

“ที่สำคัญของการก่อตั้ง ooca คือ อยากจะสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยว่าการเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่เรื่องของคนที่มีปัญหาทางจิต หรือจิตไม่ปกติ แต่คนธรรมดาทั่วไปที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันรวมถึงภาวะความเครียดต่างๆ ก็สามารถมีวันที่จิตใจอ่อนแอและต้องการที่พึ่งพิงได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เลิกกับแฟน สอบตก ทะเลาะกับที่บ้าน ปัญหาในการทำงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสมได้” ทพญ.กัญจน์ภัสสร กล่าว

MP22-3280-C ดังนั้น ooca จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาอยู่ใกล้และง่ายต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนมากขึ้น และอยากให้ ooca เป็นประตูบานแรกสำหรับทุกคนที่มีความลังเลใจ ไม่อยากให้คนอื่นเห็นหรือรับรู้เมื่อเราต้องการเข้าพบจิตแพทย์ โดยทุกคนสามารถปรึกษาเรื่องของตัวเองได้จากที่บ้านซึ่งเป็นที่ๆ มีความเป็นส่วนตัว
อย่างไรก็ตามอัตราค่าบริการนั้นขึ้นอยู่กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นผู้กำหนด เนื่องจากผู้ให้คำปรึกษาแต่ละท่านมีคุณวุฒิและวัยวุฒิที่แตกต่างกัน โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบค่าบริการก่อนได้ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ทั้งชื่อ ประวัติการศึกษา ความเชี่ยวชาญ อัตราการให้บริการในระบบอย่างชัดเจน โดยค่าบริการจะคิดตามนาที สำหรับ 15 นาทีแรก คิดค่าบริการไม่เกิน 300 บาท ผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าบริการได้ผ่านบัตรเครดิตและเดบิต

ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนขอทดลองร่วมใช้งาน ooca แล้วมากกว่า 1,400 ราย และมีทีมให้คำปรึกษาซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์ 4 ท่านและนักจิตวิทยาการปรึกษาอีก 6 ท่าน ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ใช้งานไม่ตํ่ากว่า 1,000 รายต่อเดือน รวมถึงมีผู้ให้บริการในระบบไม่ตํ่ากว่า 50 ราย และขยายบริการไปยังต่างประเทศต่อไป

โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้บริการได้จาก www.ooca.co ผ่านกูเกิลโครมได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Windows และ Mac OsX รวมถึงบราวเซอร์ โครมของแอนดรอยด์ ในส่วนของ iphone นั้น อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชัน และคาดว่าสามารถให้ดาวน์โหลดใช้งานบนแอพ สโตร์ได้เร็วๆ นี้

[caption id="attachment_181208" align="aligncenter" width="503"] ‘วิดีโอคอล’บุกตลาดสุขภาพเว็บ ooca ดึงจิตแพทย์ให้คำปรึกษา-เป้าผู้ใช้พันราย/เดือน ‘วิดีโอคอล’บุกตลาดสุขภาพเว็บ ooca ดึงจิตแพทย์ให้คำปรึกษา-เป้าผู้ใช้พันราย/เดือน[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560