จับตาประชุม CED ครั้งที่ 1 จีน-สหรัฐฯถกความสัมพันธ์ win-win

21 ก.ค. 2560 | 23:11 น.
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนและสหรัฐอเมริกาจะมีการประชุมทวิภาคีกันที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกากลางสัปดาห์นี้ (19 กรกฎาคม) โดยการประชุมดังกล่าวมีนัยสำคัญน่าจับตา เนื่องจากจะเน้นไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลากมิติด้านการค้า-การลงทุนและเป็นครั้งแรกของรูปแบบการหารือ 2 ฝ่าย (ภายใต้ชื่อ USChina Comprehensive Economic Dialogue หรือ CED) ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้น ผิงประธานาธิบดีจีน ตกลงกันไว้เมื่อครั้งที่ทั้งคู่พบปะกันครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เป้าหมายของ CED คือการเป็นเวทีให้สหรัฐฯและจีนได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจมาหารือเพื่อแสวงผลประโยชน์ร่วมกัน โดยประธานร่วมในการหารือฝั่งสหรัฐฯคือนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง และนายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์ขณะที่ประธานฝ่ายจีนได้แก่นายหวัง หยาง รองนายกรัฐมนตรีจีนซึ่งควบตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประธานาธิบดี

ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่คาดว่าสหรัฐฯจะหยิบยกมาหารือกับจีนในการประชุม CED ครั้งแรกคือการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯมีต่อจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ ปี2559 โดยสหรัฐฯส่งออกสินค้าไปจีนคิดเป็นมูลค่า 116,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าจากจีนมากถึง 463,000 ล้านดอลลาร์)ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึงการขอให้จีนเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการจากสหรัฐฯให้มากขึ้นด้วย

ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศพบกันล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมกลุ่มประเทศจี20 ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯคาดหวังให้จีนใช้บทบาทและอิทธิพลปรามพฤติกรรมท้าทายของเกาหลีเหนือแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำเกาหลีเหนือยังคงทดลองขีปนาวุธที่มีระยะยิงยาวไกลมากขึ้น (โดยข่าวระบุว่าเป็นขีปนาวุธวิสัยไกลที่สามารถยงิ ไดถ้ งึ มลรัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกา) จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯตัดสินใจตัดนํ้าเลี้ยงทางเศรษฐกิจเป็นการสั่งสอนเกาหลีเหนือ แต่ก็มีผลกระทบกับจีนโดยตรง เนื่องจากเป็นการประกาศ “ขึ้นบัญชีดำ”ธนาคารตันตง (Dandong) ธนาคารพาณิชย์ของจีน ที่มีธุรกรรมการเงินกับเกาหลีเหนือ

[caption id="attachment_181168" align="aligncenter" width="503"] จับตาประชุม CED ครั้งที่ 1 จีน-สหรัฐฯถกความสัมพันธ์ win-win จับตาประชุม CED ครั้งที่ 1 จีน-สหรัฐฯถกความสัมพันธ์ win-win[/caption]

กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่า ธนาคารดังกล่าวสร้างความกังวลใจเกี่ยวกับธุรกรรมฟอกเงินให้กับฝ่ายเกาหลี แม้ว่าการขึ้นบัญชีดำครั้งนี้จะมีระยะพิจารณาทบทวน 60 วัน แต่หากไม่มีการแก้ไขคำสั่ง ธนาคารตันตง ก็จะถูกควํ่าบาตรจากระบบการเงินของสหรัฐฯ และแม้ว่างานนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯจะออกมายืนยันว่า ไม่ได้เล็งเป้าหมาย(การกำราบ)ไปที่จีน แต่มันก็เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเอ่ยปากเชิงตำหนิว่า คำสัญญาที่จีนบอกว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเกาหลีเหนือ เป็นสัญญาที่ไร้ผลทั้งนี้ สหรัฐฯคาดหวังให้จีนใช้อิทธิพลที่มีทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กดดันเกาหลีเหนือให้ยุติพฤติกรรมคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค หรือพูดอีกอย่างก็คือต้องการให้จีน “ควํ่าบาตร”เกาหลีเหนือเพื่อเป็นการตัดเส้นทางรายได้หรือแหล่งทุนที่เกาหลีเหนือจะนำมาใช้ในการพัฒนาแสนยานุภาพทางอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากธนาคารดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯยังประกาศควํ่าบาตรบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือของจีนอีก 1 รายและชาวจีน 2 คน โดยระบุว่ามีส่วนสนับสนุนธุรกรรมที่ผิดกฎหมายให้กับเกาหลีเหนือ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่คาดหมายว่า ในการประชุม CED อาจจะมีการหยิบยกประเด็นนี้ ขึ้นมาหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียด เพราะจีนเองก็ไม่พอใจที่สหรัฐฯนำมาตรการควํ่าบาตรเกาหลีเหนือมาใช้กับนิติบุคคลและประชาชนของจีน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การหารือในเวที CED จีนอาจจะแสดงท่าทีประนีประนอมยอมให้สหรัฐฯในหลายๆ ประเด็นเพื่อบรรยากาศที่เป็นมิตรมากขึ้นดังเช่นที่จีนเคยทำมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมทีผ่านมา โดยจีนยอมเปิดตลาดให้เนื้อวัวจากสหรัฐฯ รวมทั้งยอมรับปากจะเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินค้าในกลุ่มไบโอเทคจากสหรัฐฯให้เร็วขึ้น รวมทั้งส่งสัญญาณว่าจะยอมเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการจากสหรัฐฯซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน และบริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

การเจรจาที่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย หรือwin-win ทั้งทางฝ่ายจีนและสหรัฐฯ ตามที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศตอกยํ้าไว้ในการประชุมซัมมิตที่ฟลอริดาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด? และถ้าเป็นจริง จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น กลางสัปดาห์นี้ก็คงจะได้เห็นคำตอบกันแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560