‘เพื่อไทย’ค้าน-‘ปชป.’หนุนไต่สวนลับหลังนักการเมืองหนีคดี

21 ก.ค. 2560 | 15:10 น.
ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 176 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเปิดช่องให้ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” รับฟ้องและสามารถพิจารณาคดีลับหลัง “นักการเมือง” แต่มีพฤติกรรมหลบหนีคดีได้ โดยไม่ให้นับอายุความของคดีในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี

IMG_20161229_115925 ทันทีที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านมติที่ประชุม สนช. ต่างมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากแกนนำของ “พรรคเพื่อไทย” เพราะเห็นว่า การที่ สนช.ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว จะส่งผลต่อคดีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลจำหน่ายออกจากระบบชั่วคราว และอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี ซึ่งในบทเฉพาะกาลระบุถึงคดีที่ได้ยื่นฟ้องและได้ดำเนินการไว้ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ข้องใจก.ม.คดีนักการเมือง
นายนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวใน 3 ข้อ คือ 1.การที่กฎหมายนี้เปลี่ยนแปลงหลักการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยเป็นให้มีการพิจารณาโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ถามว่าจะขัดหลักสากลหรือไม่ เพราะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (3) (ง) ระบุว่าในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อ สู้คดีด้วยตนเอง ซึ่งหลักการนี้มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเป็นหลักการที่สากลยอมรับจนเขียนขึ้นเป็นกติการะหว่างประเทศ นอกจากนั้นมีนักกฎหมายพิจารณาและไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ใช่หรือไม่

2.การแก้ไขกฎหมายว่าถ้าจำเลยหนีไประหว่างการดำเนินคดี โดยที่ไม่ให้นับระยะเวลาในระหว่างที่หนีไปรวมเป็นอายุความนั้น ถือว่ามีความลักลั่นและขัดกับหลักการที่ว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่ ซึ่งหลักการนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 7
และ 3.การแก้ไขมาตรา 67 บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีผลแตกต่างจากเนื้อหาของร่างแรกที่เสนอเข้า สนช. ซึ่งต่อมามีคำอธิบายว่า ร่างมาตรา 67 ที่แก้ไขแล้วจะทำให้กฎหมายมีผลใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ ขอถามว่าเป็นการเขียนกฎหมายให้มีผลย้อนหลังใช่หรือไม่ การทำเช่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ ที่อธิบายว่าไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อใช้บังคับกับบุคคลหรือกรณีใดเป็นการเฉพาะนั้นลองถามปุถุชนทั่วไปว่าเขาเชื่อคำอธิบายของท่านหรือไม่
“ทุกคนต้องการความยุติธรรม นิติธรรมและเมตตาธรรม ผมเชื่อว่าการดำเนินการของฝ่ายต่างๆ นั้น ถ้ายึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรมจะนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ได้ เพราะความปรองดองคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ” นายนพดล ระบุ

tp14-3280-Aa  ปชป.ยันไม่ขัดหลักยุติธรรม
ด้านฝ่ายที่สนับสนุนร่างร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวพยายามแก้ไขปัญหาคนที่มีอิทธิพลหนีคดี และเนื้อหามีความระมัดระวังไม่ให้กระทบกับหลักความยุติธรรม ซึ่ง ควรจะสนับสนุนมาตรการใดก็ตามที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

“การอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจากการตรวจสอบกฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีปัญหาดังกล่าว เพราะมีหลักไม่พิจารณาคดีลับหลัง แต่บางประเทศก็อนุญาตไว้เหมือนกับบ้านเรา พบว่าการจะพิจารณาคดีลับหลังได้นั้น จะมีเงื่อนไขว่าจำเลยได้รับการแจ้ง หรือรู้ว่าจะมีการดำเนินคดี อีกทั้งจำเลยมีสิทธิตั้งทนายต่อสู้ ดังนั้นจึงเข้าใจว่าประเด็นที่ไม่เห็นด้วยให้พิจารณาคดีลับหลังนั้นอาจเป็นกรณีที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ไม่มีสิทธิต่อสู้ และอยู่ดีๆ ก็นำขึ้นศาลเพื่อพิพากษา แบบนั้นไม่ยุติธรรมแน่นอน แต่สำหรับกฎหมายที่บ้านเราอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังนั้น เป็นการแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จงใจไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นถือว่าไม่น่าขัดกับหลักความยุติธรรม โดยเฉพาะจำเลยสามารถตั้งทนายต่อสู้ได้”

อีกทั้งยังกำหนดว่าหากจำเลยตัดสินใจกลับมาสู้และมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะส่งผลต่อคำพิพากษา สามารถรื้อฟื้นคดีได้ ซึ่งเป็นสิทธินอกจากอุทธรณ์คดี และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือเป็นการให้ความยุติธรรมกับจำเลย

ส่วนข้อโต้แย้งร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในบทเฉพาะกาล มาตรา 67 ที่ให้มีผลย้อนหลังนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ตามหลักทั่วไปการมีโทษย้อนหลังที่ไม่ควรเกิดขึ้นมี 2 กรณี คือ 1.ขณะที่กระทำนั้นไม่ผิด แต่ต่อมากฎหมายมาบอกว่าผิด การย้อนหลังดังกล่าวถือว่าไม่ได้ เพราะขัดหลักยุติธรรม และ 2.ขณะทำความผิดมีโทษอีกแบบหนึ่ง ต่อมาออกกฎหมายให้โทษรุนแรงขึ้น แล้วย้อนหลังกับผู้กระทำความผิดก่อนหน้านั้น ตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลบอกว่าทำไม่ได้ แต่สำหรับร่างพ.ร.บ. วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เพิ่มความผิดทางอาญา หรือนำโทษหนักกว่าไปย้อนหลังกับการกระทำก่อนหน้านี้ แต่เป็นเรื่องวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

 

[caption id="attachment_181154" align="aligncenter" width="503"] พีระศักดิ์ พอจิต พีระศักดิ์ พอจิต[/caption]

 เปิดโอกาสคนหนีคดีสู้ได้ 3 ชั้น

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้แจงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นการออกกฎหมายเลือกปฏิบัติเล่นงานนายทักษิณ ชินวัตร และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นเล่นงานใครเป็นพิเศษ เพราะก่อนออกกฎหมายฉบับนี้ สนช.ได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาล อัยการ มาหมดแล้วว่าสามารถดำเนินการได้
โดยเฉพาะเรื่องการไต่สวนคดีลับหลังกรณีที่จำเลยหลบหนีคดี ซึ่งไม่ใช่การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเล่นงานใครตามที่เข้าใจกัน เพราะจำเลยที่ถูกไต่สวนย้อนหลังต่างมีโทษติดตัวอยู่ในศาลอยู่แล้ว ไม่ใช่การไปแจ้งข้อหาใหม่ หรือเขียนบทลงโทษเพิ่มเติม เป็นเพียงการปรับวิธีพิจารณาให้ศาลสามารถไต่สวนได้ โดยไม่ต้องนำตัวจำเลยมาแสดงตนต่อหน้าศาล

ส่วนที่มีการดำเนินคดีเฉพาะเพียงนักการเมือง ไม่รวมถึงข้าราชการและเอกชนนั้น เพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นตัวละครสำคัญ การทุจริตของนักการเมืองสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ สังคม บางครั้งมีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านบาท กฎหมายจึงเน้นที่นักการเมืองโดยตรง

เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่ชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวไม่มีเจตนามุ่งเอาผิดย้อนหลังอดีตนายกฯ คนใด และไม่ขัดต่อหลักการสากลการพิจารณาคดีในการละเมิดสิทธิจำเลยที่ให้ไต่สวนคดีลับหลังจำเลย

“หลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ใช้กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน ยืนยันว่านอกจากไม่ละเมิดสิทธิแล้วยังให้สิทธิจำเลยเต็มที่ จำเลยสามารถตั้งทนายต่อสู้คดีในการไต่สวนลับหลังได้ แม้เจ้าตัวจะหนีอยู่ต่างประเทศก็ตาม และถ้าศาลพิจารณาตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้ว ยังมีสิทธิขอให้ศาลรื้อฟื้นใหม่ได้ภายใน 1 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากเห็นว่ามีหลักฐานใหม่มาต่อสู้ หรือหากยังไม่พอใจยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ ได้อีก เพียง แต่การขอรื้อฟื้นคดี และการอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องเดินทางกลับมาแสดงตัวต่อศาล”

  665jckfi959jk7j57gb9a ‘ทักษิณ’หนีหมายจับ 5 คดี
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปัจจุบันมีคดีถูกออกหมายจับโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 คดี ประกอบด้วย 1.คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นการออกหมายจับ นายทักษิณ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี เพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาฟังการพิจารณาของศาลนัดแรก

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 เพื่อติดตามตัว นายทักษิณ มาพิจารณาคดีนัดแรก 3.คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เพื่อติดตามตัวมาพิจารณาคดีนัดแรก

และ 4.คดีการทุจริตกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทกฤษฎามหานครฯ โดย นายทักษิณ ถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 27 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยศาลได้ออกหมายจับเนื่องจาก นายทักษิณ ไม่มารายงานตัวต่อศาลในการนัดสอบคำให้การนัดแรก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555

และ 5.คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ตามคำพิพากษาที่ให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี โดยออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 สำหรับคดีนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว โดยให้จำคุก นายทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560