จี้ป.ป.ท.ชัดเจนข้อมูลจำนำข้าว กังขา 41 ล้านตันสูงเกินจริง-ธ.ก.ส.ได้คืนแล้ว 3 แสนล้าน

22 ก.ค. 2560 | 02:00 น.
วงในเผยรัฐขายข้าวในสต๊อกคืนเงินให้ ธ.ก.ส. แล้วกว่า 3 แสนล้าน ขณะที่วงการค้าข้าว-นักวิชาการ กังขา ป.ป.ท.สอบทุจริตเก็บรักษาข้าวในคลังตัวเลขกว่า 41 ล้านตันข้าวสาร ระบุเป็นไปไม่ได้ ชี้ตัวเลขจริงระดับ 33-37 ล้านตันเท่านั้น ด้าน บิ๊ก ป.ป.ท.ยันข้อมูลจากผลตรวจสอบจริง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานล่าสุด ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ว่ารัฐบาลได้ขายข้าวสารในสต๊อกและคืนเงินให้กับ ธ.ก.ส.แล้วกว่า 3 แสนล้านบาท จากจำนวนเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด รวม 5 ฤดูการผลิตในช่วงปี 2554-2557 ทั้งสิ้น 8.84 แสนล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ 54.35 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณข้าวสาร 33.2 ล้านตัน ล่าสุดยังมีข้าวสารในสต๊อกรอระบายเพียงกว่า 2 ล้านตัน

“ทั้งนี้จากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 มีข้าวติดคดีร่วม 6 ล้านตันเท่านั้น จากคลังกลางในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ปริมาณ 4 ล้านตัน และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 2 ล้านตัน ซึ่งเมื่อมาพิจารณามูลค่าความเสียหาย ที่ ป.ป.ท. คิดต่างจาก ธ.ก.ส.ลงบัญชีไว้ โดยข้อมูล ป.ป.ท.ระบุมีปริมาณข้าวในคลัง อคส. ปริมาณ 39.1 ล้านตัน และในคลัง อ.ต.ก. 2.44 ล้านตันข้าวสาร รวม 41.5 ล้านตัน มีการตั้งข้อสังเกตว่านับคลังซํ้าหรือไม่ และรายได้จากการขายข้าว นำมาหักข้าวคงเหลือในแต่ละคลังหรือยัง เป็นต้น”

สอดคล้องกับ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ที่ให้ความเห็นว่า ตัวเลขข้าวสารที่เข้าสู่คลังกลางกว่า 41 ล้านตัน มองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะรับจำนำข้าวเปลือกมา 54.35 ล้านตัน เมื่อทอนออกมาเป็นข้าวสารอยู่ที่ 33 ล้านตัน หรือให้สูงสุดที่ 37 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบคลังกลางมีปริมาณสูงถึง 41.5 ล้านตัน ตรงนี้รวมของโครงการก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่ ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขายข้าวได้เท่าไรในแต่ละคลังก็จะต้องหักออกมาด้วย เพราะไม่ใช่ข้าวหาย แต่เป็นข้าวเสื่อม หรือเป็นข้าวอุตสาหกรรม ก็ขายได้ มีราคา แต่ไม่ใช่ไปตีมูลค่าเป็นศูนย์ จะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

เช่นเดียวกับวงการข้าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณข้าวสารจากโครงการรับจำนำที่สูงกว่า 41 ล้านตัน คำนวณแล้วข้าวเปลือกต้องมากกว่า 54 ล้านตัน เรื่องนี้อยากให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบข้อมูลให้กระจ่าง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยป.ป.ท.อาจเชิญ ธ.ก.ส.และผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำไปให้ข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีข้าวสารในสต๊อกที่ตกค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าประมาณ 18 ล้านตัน และรัฐบาลก่อนหน้าก็ได้ระบายข้าวออกไปบางส่วน ดังนั้นข้อมูลที่ได้รับอาจจะมีความคลาดเคลื่อน

[caption id="attachment_181104" align="aligncenter" width="501"] พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.[/caption]

ขณะที่ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม เร่งรัดสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)กล่าวสั้นๆ โดยยืนยันว่าข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจจริงในพื้นที่คลังกลาง ตั้งแต่การนำข้าวเข้า-ออกคลัง เป็นข้าวชนิดใดและมีบริษัทใดรับมอบข้าว เป็นต้น
มีการแบ่งเป็น 3 ประเภทความเสียหาย ได้แก่ 1.ข้าวไม่ได้มาตรฐาน ปริมาณข้าว 31 ล้านตัน คิดเป็น 1.38 แสนล้านบาท แบ่งเป็นของคลัง อคส. ปริมาณข้าว 29 ล้านตัน เสียหาย 1.11 แสนล้านบาท คลัง อ.ต.ก.ปริมาณ 2.4 ล้านตัน มูลค่าเสียหาย 2.69 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้าวเสื่อมคุณภาพ อยู่ในคลัง อคส. ปริมาณร่วม 10 ล้านตัน คิดเป็นค่าเสียหาย 8,179 ล้านบาท ส่วนของ อ.ต.ก.ปริมาณข้าวกว่า 2 หมื่นตัน คิดเป็น 340 ล้านบาท ส่วนข้าวสูญหาย อคส.มีปริมาณ 5.47 หมื่นตัน คิดเป็น 47 ล้านบาท ส่วน อ.ต.ก.ไม่มีข้าวหาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560