เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 60

17 ก.ค. 2560 | 23:35 น.
ศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560... จับตาแรงส่งจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐที่ทยอยอ่อนแรง

kb0717-4 ทางการจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2/2560 ขยายตัวร้อยละ 6.9 (YoY) เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 (YoY) เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน พบว่า แรงส่งทางเศรษฐกิจ ในช่วงไตรมาส 2/2560 หลักๆ มาจากภาคการส่งออกของจีนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.4 (YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.2 (YoY) ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ในทางตรงกันข้าม โมเมนตัมของภาคเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนในช่วงไตรมาส 2/2560 กลับส่งสัญญาณอ่อนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เติบโตชะลอลงจากไตรมาสแรกอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 8.6 (YoY, YTD) ทั้งจากการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบาง ขณะที่ ยอดค้าปลีกภายในประเทศยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

เมื่อพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอย่าง PMI ภาคการผลิต พบว่า แม้ PMI จะขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2560 ทว่า ดัชนีย่อยสินค้าคงคลังทั้งทางด้านวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ต่างก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (หดตัว) มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีย่อยการจ้างงานที่พลิกกลับมาต่ำกว่า 50 อีกครั้งในช่วงไตรมาส 2/2560 แสดงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ค่อนข้างเปราะบางในระยะข้างหน้า เมื่อผนวกกับแรงส่งจากภาคการส่งออกของจีนที่น่าจะอ่อนแรงในช่วงที่เหลือของปี จากผลของฐานและความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2560 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.7 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 (คาดการณ์ ณ เมษายน 2560) จากการเติบโตที่เหนือความคาดหมายในช่วงครึ่งปีแรกเป็นสำคัญ

20017687_s ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ขยายตัวได้ดี และสูงกว่าเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 6.5 อย่างมีนัยสำคัญ คงช่วยให้ทางการจีนมีช่องว่างทางนโยบายในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ตามแนวทางจากการประชุมคณะทำงานภาคการเงินแห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทางการจีนส่งสัญญาณยกระดับความสำคัญของการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบสถาบันการเงินขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเชิงระมัดระวังของธนาคารกลาง (Macro-prudential management) และการเข้าไปมีบทบาทเพิ่มขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการรักษาเสถียรภาพของภาคการเงินจีน

อนึ่ง ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลักๆ ของจีนในช่วงที่เหลือของปี จะยังคงเป็นความเสี่ยงเชิงนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของจีนได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะเฉพาะหน้า ทางการจีนคงดำเนินการจำกัดการเติบโตของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในภาคดังกล่าว ผ่านนโยบายการเงินเฉพาะภาคส่วนที่เข้มงวดขึ้น รวมไปถึงการใช้นโยบายเชิงปริมาณในการจำกัดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุน แม้ท่าทีเชิงนโยบายการเงินในภาพรวมของธนาคารกลางจีนจะยังคงเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนคลาย เพื่อประคองโมเมนตัมเศรษฐกิจภายในประเทศก็ตาม ขณะที่ แรงกดดันเชิงเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่เป็นประเด็นติดตามมาตั้งแต่ต้นปี 2560 เริ่มคลายตัวลง สะท้อนผ่านค่าเงินหยวนที่ทางการจีนเข้าไปบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น สถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้น และทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเพียงพอให้ทางการจีนสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนในครึ่งหลังของปี 2560 ได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของเฟด

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจีนในระยะปานกลางยังคงเผชิญปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้ภาคธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำ ซึ่งคงจะเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อไป และคงเป็นความเสี่ยงเชิงระบบในระยะปานกลางที่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามความแน่วแน่จากทางฝ่ายการเมืองของจีนในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย