ไฟเขียวร่างยุทธศาสตร์ 20 ปีงานวิจัยนวัตกรรมไทย

17 ก.ค. 2560 | 11:00 น.
“พล.อ.อ.ประจิน”ไฟเขียวร่างกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีการวิจัยและนวัตกรรมของชาติ   เกาะติดบัญชีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ มุ่งสู่เป้าหมายนักวิจัยนวัตกรรม 80 คนในประชากรหมื่นคน

เว็บไซต์ www.thaigov.go.th เผยแพร่ว่า  วันนี้ (17 กรกฎาคม 2560) เวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการบริหารจัดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2/2560

inno

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าสรุปผลการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 ดังนี้ (1) เห็นชอบหลักการ(ร่าง)กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) (2) เห็นชอบโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2560-2579) (3) รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการเรื่องแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับ 5 อุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ (4) รับทราบผลการดำเนินงานคณะกรรมการบูรณาการ บริหารจัดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม

จากนั้นที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการเรื่อง บัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งเป็นมาตราการสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไทยให้สามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีมาตรฐานสากล พร้อมรับทราบความก้าวหน้าผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาขับเคลื่อนไปสู่การใช้ประโยชน์อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าประสงค์แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลัก  ได้แก่  1. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายทางสังคม 3. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และ4. การสร้างบุคลากรพัฒนาระบบนิเวศ และเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง

ผลลัพธ์ที่คาดจะได้ คือ คุณภาพสังคม คุณภาพการศึกษา คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้น อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 80 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ในปี 2579