ไทย-ตุรกี เดินหน้าประกาศเจรจา FTA ตั้งเป้าจบปลายปีหน้า

16 ก.ค. 2560 | 23:25 น.
ไทยและตุรกีจะประกาศการเปิดเจรจา FTA ระหว่างกัน ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี โดยทั้งสองประเทศจะเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีรอบแรก ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคมนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีกำหนดเยือนกรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี เพื่อเข้าร่วมพิธีประกาศเปิดเจรจา FTA ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของตุรกี (นาย Nihat Zeybekçi) ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้ การเจรจา FTA มาจากเจตนารมณ์ของทั้งสองประเทศในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี

นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ตุรกีเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 30 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ G20 ตุรกีมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ สามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป และเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้า ทั้งด้านเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เป็นประเทศมุสลิมแบบเปิดจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญจากทะเลแคสเปียนและภูมิภาคเอเชีย ไทยจึงสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ได้ อาทิ ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือ ในขณะเดียวกัน ตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน และ CLMV ได้ นอกจากนั้น ตุรกีมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน และให้การคุ้มครองนักลงทุน จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในตุรกีและโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และประมง รวมทั้งการผลิตอาหารฮาลาล เป็นต้น

สำหรับการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม 2560 ที่ประเทศตุรกีเป็นเจ้าภาพ จะมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) เป็นประธานร่วมกับอธิบดีกรมกิจการสหภาพยุโรป กระทรวงเศรษฐกิจตุรกี (Mr. Murat Yapici) โดยการเจรจารอบที่ 1 ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเพื่อหารือโครงสร้างของข้อบทความตกลงการค้าสินค้า การแบ่งกลุ่มการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แผนการเจรจาและความคาดหวัง รวมถึงเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบ เพื่อให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในปลายปี 2561

ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยผลการศึกษาพบว่า GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.03-0.04% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 74-99 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปโลกจะเพิ่มขึ้น 0.03-0.05% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50-90 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ รายการสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตรีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ในปี 2559 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,370.69 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.33 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 772.34 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1071.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 299.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 609.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.81 และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.34 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 419.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 514.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น จากปีก่อนหน้า ร้อยละ 13.18 และนำเข้ามูลค่า 95.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.19

สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากตุรกี เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระจก แก้วและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น