ขบ.ลุยแผน20ปีพัฒนาสถานีขนส่งเร่งออกแบบก่อนปรับใช้แต่ละพื้นที่

16 ก.ค. 2560 | 10:37 น.
ขบ.เผยแบบพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารเร่งเดินหน้าแผนแม่บท 20 ปีพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร ล่าสุดร่วมกับสจล.เปิดรับฟังความเห็นเพื่อขับเคลื่อนพร้อมแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน(แอ็คชั่นแพลน)ให้พร้อมรองรับผู้ใช้บริการระหว่างประเทศ แบ่งเป็น 3 ระยะ นำร่อง 5 จังหวัด

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยว่า ได้เปิดเผยร่างการพัฒนารูปแบบการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารก่อนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการเข้าร่วมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้หลายปีที่ผ่านมาสถานีขนส่งผู้โดยสารไม่เพียงบริการแก่ผู้โดยสารชาวไทยเท่านั้น ยังได้รองรับชาวต่างประเทศอีกด้วย ประกอบกับขบ.มีภารกิจในการกำหนดนโยบาย มาตรการวางแผนจัดตั้ง ตลอดจนกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของสถานีขนส่งผู้โดยสาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ยังสามารถสนองแผนพัฒนายุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปีกระทรวงคมนาคมอีกด้วย

 

mo1 ดังนั้นขบ.จึงเปิดรับฟังความเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินการ และพัฒนาสถานีขนส่งคนโดยสารสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการสถานีขนส่งและกิจการขนส่งผู้โดยสาร โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน โดยปัจจุบัน ขบ.มีสถานีขนส่งผู้โดยสารจำนวน 123 แห่ง โดยขบ.บริหารจำนวน 2 แห่ง เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 94 แห่ง บริษัทขนส่งจำกัด( 8 แห่ง และเอกชนจำนวน 19 แห่ง ซึ่งรูปแบบเดิมอาจไม่สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางและการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป

“ช่วงที่ผ่านมาพบว่าเอกชนได้ไปจัดหาบางส่วน โดยถือเป็นปัญหาที่ราชการไม่นิ่งนอนใจ ประกอบกับขบ.ไม่มีแผนแม่บทในระยะยาวกำหนดว่าควรจะเป็นอย่างไรบ้าง สถานีขนส่งประจำจังหวัดและชุมทางอำเภอที่สำคัญ เพื่อรองรับรถให้บริการระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าในอนาคตจะก้าวไปในทิศทางใด มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไรบ้าง โดยจะศึกษาให้ครอบคลุมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่จัดตั้ง ตลอดจนแนวโน้มในอนาคต”

ด้าน ดร.จารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่าแผนแม่บทดังกล่าวระยะ 20 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น(0-5 ปี) ระยะกลาง (6-10 ปี) และระยะยาว (11-20 ปี) และแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนในพื้นที่การศึกษานำร่อง 5 จังหวัดในจำนวน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1(กรุงเทพฯ) ได้แก่ สายใต้แห่งที่ 2 กลุ่มที่ 2 หาดใหญ่ กลุ่มที่ 3 เชียงใหม่ กลุ่มที่ 4 หนองคาย และกลุ่มที่ 5 ระยอง ซึ่งการศึกษาแผนแม่บทจะครอบคลุมประเด็นแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีขนส่งผู้โดยสารเพื่อเพิ่มระดับการให้บริการ พื้นที่การให้บริการ แนวทางการบริหารจัดการสถานีขนส่งผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

mo2

“จะพบว่ารูปแบบรถใช้บริการเปลี่ยนไป ปรับจากรถขนาดยาวสองชั้นมาเป็นรถตู้ หรือรถชั้นเดียวแต่ขนาดยาวขึ้น ไม่รองรับพฤติกรรมคนใช้บริการ อีกทั้งเพื่อรองรับผู้โดยสารใช้บริการระหว่างประเทศ จึงต้องมีภาษาหลากหลายในการสื่อให้ผู้โดยสาร ปัจจุบันพบว่ารถโดยสารระหว่างประเทศมีการขนสินค้าจำนวนมาก นอกจากนั้นยังต้องศึกษาว่าจะปรับปรุงอย่างไหน จำนวนเท่าไหร่ เรื่องการบริหารจัดการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับอนาคตได้อย่างไร”

นอกจากนั้นในส่วนภาคเอกชนยังพบว่ามีความสนใจในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานี ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ให้พร้อมสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับการประกอบการ แต่ไม่ได้มองข้ามปัจจัยผลกระทบต่างๆประกอบการพิจารณา อาทิ ราคาเชื้อเพลิง ราคาค่าโดยสาร ความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก การใช้ระยะเวลาเดินทาง การแข่งขันในปัจจุบัน

ทั้งนี้เบื้องต้นได้พิจารณาเรื่องการให้บริการของเจ้าหน้าที่ บริเวณและอาคารสถานที่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งยังมีข้อมูลผลการจัดกลุ่มสถานีขนส่งผู้โดยสารตามการประเมินองค์ประกอบสถานีจำนวน 25 รายการพบว่าอยู่ในระดับดีมาก 43 แห่ง ระดับดี 27 แห่ง พอใช้ 29 แห่ง ต้องปรับปรุง 15 แห่ง และสถานีขนส่งผู้โดยสารที่สามารถดำเนินการจัดไหม้มีรายการตามที่ขบ.กำหนดได้ครบทั้ง 25 รายการ ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจ.กำแพงเพชร จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมาแห่งที่ และแห่งที่ 2 สถานีขนส่งจ.ลพบุรี และอ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ

mo3

“พบว่าปัญหาการบริหารจัดการสถานีขนส่งผู้โดยสารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันจะพบว่าขาดการบำรุงรักษาภายในอาคารและชานชาลาให้มีสภาพดีและเหมาะสมแก่การให้บริการ ยังไม่สามารถดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ทั้ง 15 ภารกิจได้อย่างครบถ้วน อาทิไม่ติดตั้งป่ายแสดงประเภทรถที่จะเข้ามาจอดในพื้นที่ลานจอดไว้อย่างชัดเจน ไม่ติดป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารที่หน้าช่องจำหน่ายอย่างชัดเจน และยังไม่มีการปรับปรุงหรือกำหนดโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจนเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานสถานีขนส่งผู้โดยสารดังกล่าว”

ด้านนายสุกิจ ปัญจธนศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการขนส่ง กล่าวว่า ได้ยกตัวอย่างโมเดลสถานีขนส่งของสหรัฐอเมริกา-มาเลเซียเป็นกรณีศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายระบบการขนส่งสาธารณะที่ได้มาตรฐาน ก่อนขยายสู่ระดับเมืองต่างๆ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมบริการการเดินทางในต่างประเทศที่เริ่มมีผลต่ออุตสาหกรรมรถโดยสารระหว่างเมืองมากขึ้น ทั้งนี้แผนแม่บทการพัฒนาสถานียังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณผู้โดยสารและรถโดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น การปรับปรุงระบบทางเชื่อมพิเศษเข้าสู่ระบบทางด่วน การจัดเตรียมอาคารสำหรับรถโดยสารจอดพักรอ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามศักยภาพของพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้
“เพื่อชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการการเดินทางทั้งในเขตเมืองและพื้นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวโน้มอุตสาหกรรมรถโดยสาร สัดส่วนการเดินทางให้เห็นภาพต่อกรณีศึกษาดังกล่าวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซียได้กำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรองรับไว้แล้วภายในปี 2020 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนระดับชาติสาขาขนส่งสาธารณะทางบก แผนระดับเมืองสาขาขนส่งสาธารณะทางบก”