บอร์ดTG ตื่น! เครื่องบินเสีย ลำละล้าน/วัน

14 ก.ค. 2560 | 13:50 น.
วันที่ 14 ก.ค.60–บอร์ดบินไทยเรียกฝ่ายช่างแจงเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์พัง พบส่งซ่อมอีกอื้อ รุ่นเทรนท์ 700 -800-900 ยัน 1000 แฉต้องจ่ายค่าเช่าวันละ 1 ล้านบาทต่อลำ แนะไล่ฟ้องเรียกค่าเสียอิมเมจ

ผลจากการขาดอะไหล่ เครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์  Trent 1000 ที่ใช้ในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787-8  ยังส่งผลกระทบต่อแผนปฏิบัติการบินของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง

265795 แหล่งข่าวระดับสูงจาก  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 12 กรกฎาคม บอร์ดจะเชิญ ผู้บริหารฝ่ายช่าง ของการบินไทย เข้าชี้แจง ข้อเท็จจริงและผลกระทบจากกรณีดังกล่าวต่อที่ประชุม หลังเครื่องบินโบอิ้ง 787 -8 ดรีมไลเนอร์ จำนวน 4 ลำ ไม่สามารถทำการบินได้ ทั้งที่เพิ่งซื้อมาเมื่อปี 2557

“เบื้องต้นความเสียหายจากเครื่องบินที่ไม่สามารถบินได้เฉพาะค่าเช่าจะอยู่ที่วันละ 1 ล้านบาท ต่อลำ และหากประเมินเบื้องต้นที่การบินไทยต้องสลับรอบการซ่อมเครื่องยนต์ เพื่อหมุนเวียนให้สามารถนำเครื่องบินบางลำไปบินได้แต่ก็ยังมีเครื่องบินจอดรอการซ่อมอยู่ที่ 3-4 ลำ ค่าเสียหายเบื้องต้นจะอยู่ที่ 3-4 ล้านบาทต่อวัน ไม่รวมค่าเสียหาย อื่นๆ เกี่ยวกับการดูแลโดยสาร และแนวทางแก้ปัญหา ข้อมูลทั้งหมดจะมีการรายงานให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบด้วย”

นอกเหนือจากเครื่องยนต์ Trent 1000 แล้ว พบว่า การบินไทยยังส่งเครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์ รุ่นต่าง ๆ รวม 4 รุ่น ไปซ่อมยังศูนย์ซ่อมโรลส์-รอยซ์ที่ สิงคโปร์และฮ่องกง  ได้แก่ เครื่องยนต์  Trent 700 ที่ใช้กับเครื่องบินแอร์บัส เอ330-300  Trent 800 ใช้กับเครื่องบิน โบอิ้ง 777   Trent 900  ใช้กับเครื่องบิน แอร์บัส เอ 380-800 รวมถึง Trent 1000 ซึ่งใช้กับโบอิ้ง 787 -8  รวมจำนวนเกือบ 40 เครื่องยนต์ โดยมีทั้งอยู่ระหว่างการซ่อม หมดอายุการใช้งาน และบางรุ่นอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องเวลาในการส่งมอบ

265796 อย่างไรก็ดีแม้ว่าขณะนี้ฝ่ายบริหารจะตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวแล้วก็ตาม  แต่ปัญหาที่ฝ่ายช่างพบบ่อยครั้งคือทางโรลส์-รอยซ์ มักเลื่อนนัดการส่งมอบเครื่องยนต์มาโดยตลอด แม้ทีมงานฝ่ายช่างจะเตรียมการไว้รองรับ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด ซึ่งหากเกิดปัญหาบ่อยครั้งก็จะกระทบต่อผู้โดยสาร ทำเครื่องบินล่าช้า  ต้องยุบรวมเที่ยวบิน เป็นปัญหาที่แก้กันไม่จบ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เรื่องนี้หากไม่รีบแก้ไขหรือกดดันให้ โรลส์-รอยซ์ เร่งหาทางแก้ปัญหาอาจจะส่งกระทบต่อผลการดำเนินการในอนาคตของการบินไทย ที่อาจกลับมาขาดทุนอีก ซึ่งนอกจากการรวบรวมข้อมูลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแก่โรลส์-รอยซ์แล้ว การบินไทยควรฟ้องเรียกค่าเสียภาพลักษณ์องค์กรและควรกดดันด้วยการหาทางเจรจากับผู้ผลิต เครื่องยนต์ จีอี ที่เป็นคู่แข่ง เพื่อพิจารณาในการสั่งซื้อเครื่องยนต์ในคราวต่อไป เป็นการกดดันโรลส์-รอยซ์ ให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน เหมือนที่สายการบินบางสายทำได้ผลมาแล้ว