ธปท.ชี้ศก.ไทยฟื้นตัวชัดทั้งปี 3.5% จับตา SMEs มีสัญญาณหนี้เสียไหลเพิ่ม

14 ก.ค. 2560 | 10:31 น.
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ภาคส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐหนุนทั้งปีขยายตัว 3.5% ลุ้นการลงทุนเอกชนโค้งท้ายโตได้ 3% ดันโตตามกรอบที่ 1.7% ย้ำ จับตาคุณภาพเอสเอ็มอี หลังมีสัญญาณเอ็นพีแอลยังเพิ่มจากไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.35% เหตุความสามารถแข่งขันถดถอย หากไม่ปรับตัวอยู่ได้ยาก ชี้ เกณฑ์คุมสินเชื่อคลีนโลนไม่กระทบเศรษฐกิจ แจงเน้นคุมก่อหนี้ลูกค้าใหม่

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2560 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้การลงทุนบางส่วนล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยทั้งปีคาดการณ์จีดีพีขยายตัวที่ระดับ 3.5% จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.4%

ขณะที่ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ความไม่แน่นอนปรับลดลง ส่วนความเสี่ยงต่อประมาณการเงินเฟ้อโน้มไปด้านสูง จากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ซึ่งกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-4% คาดว่าจะเข้ากรอบล่างอยู่ที่ 1% ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่วนจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น จะเห็นว่าเงินฝืดจะมาพร้อมกับเศรษฐกิจไม่ดี หรือเศรษฐกิจขยายตัวน้อย และราคาไม่ขึ้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้น เพียงแต่เงินเฟ้อไม่เติบโตตาม

ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในบางธุรกิจที่ยังไม่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนมาจากความสามารถในการแข่งขัน ทำให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 4.35% ซึ่งจากปกติเอ็นพีแอลจะปรับลดลงจะใช้เวลา 2 ไตรมาส แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าจะปรับลดลงหรือไปอยู่ในระดับใด แต่หากดูเอ็นพีแอลภาพรวมจะอยู่ที่ 2.83% ถือว่าไม่สูงมาก สะท้อนว่าระบบการเงินยังดีอยู่ และธนาคารพาณิชย์ก็มีความแข็งแกร่ง

“กนง.มองเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบทั่วถึงมากกว่า เพราะถ้าเศรษฐกิจดีจะทำให้สินเชื่อโตได้ แต่ถ้าสินเชื่อไม่โตสะท้อนเศรษฐกิจว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักพัก แม้ว่าสินเชื่อในภาพรวมของธนาคารยังไม่โตมาก แต่การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ต่างๆ ไม่ได้ชะลอตัวเลย ส่วนความกังวลต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่เอ็นพีแอลยังคงปรับขึ้นมาจากความสามารถในการแข่งขัน หากปรับตัวช้าหรือไม่ปรับตัวก็ไม่สามารถอยู่รอดได้”

003 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังประเมินว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักยังคงมาจากปัจจัยตัวเดิมๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น การส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ตัวที่จะมาเป็นแรงขับเคลื่อนสูงขึ้น คือ ภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 3.5% หลังจากได้มีการปรับกรอบประมาณการส่งออกจากเดิมอยู่ที่ 2.2% เพิ่มเป็น 5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัวอยู่ หากต้องการให้การเติบโตเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1.7% การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องขยายตัวให้ได้ที่ระดับ 3%

นายจาตุรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่จะออมานั้น มองว่า จะไม่กระทบต่อภาพรวมสินเชื่อ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมคนเก่าที่มีสินเชื่ออยู่แล้ว แต่จะเป็นการจำกัดการก่อหนี้ของลูกค้าใหม่ จึงมองว่าไม่กระทบมาก อย่างไรก็ดี การก่อหนี้แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีสักพัก แต่ในระยะยาวครัวเรือนที่มีหนี้ภาคครัวเรือนสูงจะทำให้อำนาจในการซื้อและใช้จ่ายลดลงน้อยลง เพราะจะต้องนำเงินมาชำระหนี้ที่ก่อไว้ ซึ่งเป็นการก่อหนี้ในอนาคต ดังนั้น จึงต้องดูในหลายมิติ