ค้าชายแดนระนองวูบ 6 เดือนแรกหดตัว 2 พันล้าน

16 ก.ค. 2560 | 03:30 น.
ค้าชายแดนระนอง 6 เดือนแรกวูบ 2 พันล้าน เจอพิษเศรษฐกิจโลกฉุดยอดค้าชายแดนตํ่ากว่าเป้า แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะกระเตื้องลุ้นปัจจัยหนุนใน เมียนมาที่เศรษฐกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมาในช่วง 6 เดือนแรกในปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 60) มียอดการส่งออกรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในช่วง 6 เดือนแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่มียอดการส่งออกรวมโดยเฉลี่ย 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดการส่งออกลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่าปัจจัยลบที่ส่งผลต่อสถานการณ์การค้าชายแดนคือปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ นอกจากนี้การเปิดด่านสิงขร ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการค้าขายชายแดนไทย-เมียนมาด้าน จ.ระนอง-เกาะสองลดลง

สำหรับประเภทสินค้าที่มีการส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ นํ้ามันเชื้อเพลิง/หล่อลื่น, ปูน ซีเมนต์, เครื่องดื่มให้พลังงาน, ของทำด้วยเหล็ก, วาล์วปิด-เปิดพร้อมอุปกรณ์, บรั่นดี/สุรา, ท่อผนังชนิดไร้ตะเข็บใช้ในการขุดเจาะฯ, เครื่องดื่มต่างๆ, กาแฟสำเร็จรูป, ส่วนประกอบของเครื่องจักรหนัก

ส่วนประเภทสินค้าที่มีการนำเข้า 8 อันดับแรก ได้แก่ สัตว์นํ้า,ท่อผนังบ่อหลุมขุดเจาะชนิดตะเข็บฯ, ถ่านไม้ป่าเลน, ของทำด้วยเหล็กใช้ในงานขุดเจาะ, แกนเหล็กอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในหลุมขุดเจาะฯ, แท็งก์เปล่าทำด้วยเหล็กใช้ในโครงการฯ, ส่วนประกอบของเครื่องจักรฯ, ขุดเจาะใช้ในงานขุดเจาะปิโตรเลียม

“สภาวะและสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมาในช่วงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาอยู่ในสภาวะที่ดีมาก สินค้าในหลายกลุ่มสินค้ามีอัตราการขยายตัวสูงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร สินค้าประเภทอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าในหมวดก่อสร้างมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% แต่ในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน 2560 พบมีปัจจัยลบเข้ามาเป็นตัวแปร โดยเฉพาะสถานการณ์การถดถอยทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจของ ไทย ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน”

นายนิตย์ กล่าวต่อไปว่า การค้าไทย-เมียนมา อยู่ในสถานการณ์ที่ดีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากอัตราการบริโภคและแนวโน้มการบริโภคในเมียนมามีสูงมาก รวมถึงปัจจัยทางการเมืองของเมียนมาที่ค่อนข้างนิ่ง ประกอบกับความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาที่เป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งอาจเป็นเพราะเมียนมาไม่มีฐานการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค จำเป็นจะต้องนำเข้าสินค้าเกือบทุกประเภทจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยถือเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนใกล้ชิดมากที่สุด ประกอบกับที่ผ่านมาสถานการณ์ของความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับชาติอยู่ในสภาวะที่ดีมากๆ อีกทั้งไม่มีปัญหาการเมืองแต่ประการใดจึงทำให้การค้า ส่งออกของทั้ง 2 ประเทศจึงมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

[caption id="attachment_179208" align="aligncenter" width="503"] ค้าชายแดนระนองวูบ 6เดือนแรกหดตัว2พันล้าน ค้าชายแดนระนองวูบ 6เดือนแรกหดตัว2พันล้าน[/caption]

สำหรับแนวโน้มในช่วงปี 2560 ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าน่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงในทุกกลุ่มสินค้าทั้งอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้าง และนํ้ามันเหตุปัจจัยจากการเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การเดินทางเข้า-ออกที่ทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการส่งออก-นำเข้าที่มีการลดกำแพงภาษีและเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เอื้อต่อการขยายตัวสูง รวมทั้งโครงการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ในเมียนมา ประกอบกับการเดินทางกลับของแรงงานเมียนมาที่ไปหางานทำในประเทศมากขึ้นก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลขการบริโภคในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560