เศรษฐกิจ‘มหาชัย’สะเทือน กิจการแปรรูปสัตว์น้ำขาดแคลนแรงงานหนัก

16 ก.ค. 2560 | 01:00 น.
พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวเขย่าเศรษฐกิจมหาชัย กิจการแปรรูปสัตว์นํ้าได้รับผลกระทบ แรงงานหนีกลับบ้านชี้แค่ทำพาสปอร์ตใช้เวลานานเกือบ 2 เดือน ชี้ผ่อนผัน 180 วันน้อยไป

นายสมพจน์ ยิ่งยวด ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับนายไตรพล ตั้งมั่นคง ที่ปรึกษา ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบังคับใช้ 4 มาตรา ของพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือมาตรา 101, 102, 119 และมาตรา 122 ซึ่งเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นนั้น ได้ก่อปัญหาให้กับขบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ทั้งยังปฏิบัติยาก เมื่อลูกจ้างกับนายจ้างเกิดความกลัว ก็เลยต้องกลับไปตั้งหลักที่ประเทศของตนก่อน จึงขอให้ภาครัฐเขียนกติกาที่ชัดเจน แล้วแจ้งให้ประชาชน-นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว ได้ทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการรับรู้ในทางเดียวกันและข่าวต้องไม่ขัดแย้งกัน จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐจะทำอะไรก็ตาม ควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกันตามสมควร

“สภาพขณะนี้ทางสมาชิกของชมรม ก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะแรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ประกอบกับขณะนี้เรือประมงก็ออกหาปลากันไม่ได้ สินค้าสัตว์นํ้าก็มีเข้ามาค้า-ขายในตลาดน้อยอยู่แล้วจึงถูกซํ้าด้วยปัญหาคนงานที่หายไปอีก”

นายสมพจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ยากในทางปฏิบัติก็คือสภาพแรงงานต่างด้าวยังไม่นิ่ง ดังนั้นถ้าจะให้การจ้างงานสงบ ก็ควรอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ทั้งปี เหตุเพราะทั้งล้งและเรือประมง ต่างก็มีปัญหากันทั้งปี ดังนั้นเมื่อราชการปิดการจดทะเบียน แต่เกิดปัญหาการจ้างงานขึ้น นายจ้างก็ไม่สามารถขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้ในช่วงนั้น ทางชมรมจึงอยากเสนอให้มีการจดทะเบียนและการขออนุญาตใช้แรงงานได้ทั้งปี เหมือนการทำบัตรประชาชนหรือการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั่วไป เพราะสภาพลูกจ้างย้ายนายจ้าง หรือนายจ้างย้ายลูกจ้าง มีเกิดขึ้นทุกวัน จะได้สับเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ในช่วง 180 วันที่ทำการผ่อนผันจึงน่าจะทำเรื่องการจดทะเบียนขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างไม่ต้องมีการจำกัดเวลา โดยถือเป็นวาระแห่งชาติและให้เป็นวาระเร่ง ด่วน

“การผ่อนผันไป 180 วันก็อาจจะทำกันไม่ทัน เพราะเมื่อลูกจ้างเดินทางกลับประเทศของตนแล้วจะกลับมาอีกก็มีความยุ่งยากมากมาย ขณะนี้พวกที่เดินทางกลับประเทศของตนมีทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและพวกที่อยากกลับอยู่แล้ว”

MP24-3279-3 นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมผู้ซื้อและชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า แนวทางนโยบายเรื่องนี้ดีและแก้ถูกจุด เพื่อป้องกันคนงานต่างด้าวใช้ช่องว่างของกฎหมายหนีจากนายจ้างไปทำงานอย่างอื่นหรือหนีไปอยู่ในภาคกิจการอื่นๆ หรือหนีไปทำงานแย่งกับคนไทย แต่ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือค่าปรับสูงเกินไป ควรปรับแก้ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือเกิดการบังคับใช้ไม่เท่าเทียมกัน และระยะเวลา 180 วันสั้นเกินไป ซึ่งเมื่อแรงงานต้องเร่งหรือต้องรีบขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต ประกอบกับมีแรงงานจำนวนมาก เมื่อมายื่นเรื่องกันหนาแน่น ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หรือจะต้องมีค่าบริการพิเศษอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เห็นว่าควรยืดเวลาออกใบอนุญาตออกไปอีก เพราะคนงานเดินทางไปแล้วเดินทางกลับมา ก็ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน เชื่อว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องมีความแออัดในช่วงท้ายๆ เมื่อใกล้เวลา 180 วัน

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบ แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพที่เกิดขึ้นก็เพราะมีผู้ทำผิดกฎหมายเยอะและมีการทำให้คนเกิดความกลัว ซึ่งทางรัฐควรทำประชาคมให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลกระทบแล้วมาตามแก้ภายหลัง ซึ่งก็จะยุ่งยากและเกิดความเดือดร้อนต่างๆ ตามมา

“ทางด้านประมงนั้นได้รับผลกระทบมาเป็นปีแล้ว เนื่องจากเรือต้องจอดและไม่มีแรงงานลงเรือ ทางออกที่รัฐน่าจะทำคือ การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานทดแทนในระยะสั้น หรือการผ่อนผันชั่วคราวด้วยใบอนุญาตทดแทน เพื่อให้คนงานสามารถลงไปทำงานในเรือประมงได้ก่อน และเรือประมงจะได้ออกทะเลไปจับปลาได้ โดยไม่ต้องจอดรอค้างอยู่ จากนั้นก็ให้มีการขึ้นทะเบียนต่อไปเพื่อแรงงานจะได้มีใบอนุญาตถูกต้อง”

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านนํ้าไทย ได้เปิดเผยว่า ทางกิจการประมงนอกน่านนํ้าไม่ได้รับผลกระทบจากพ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากลและกฎหมายของประเทศที่ไปใช้พื้นที่ทำการประมง ขณะนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างมากก็คือ กิจการแปรรูปอาหารกิจการต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการประมง กิจการก่อสร้าง กิจการที่ต้องใช้แรงงานย่อยๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560