ผ่าวิกฤติแอร์ อินเดียขายกิจการ‘สายการบินแห่งชาติ’

18 ก.ค. 2560 | 23:31 น.
ครม.อินเดียอนุมัติการขายกิจการสายการบินแอร์ อินเดีย สายการบินแห่งชาติแล้วเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติหนี้สินที่พอกพูนกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท) ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นเป็นระลอกโดยเฉพาะจากสหภาพแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ ผู้ซื้อที่จะเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาช่วยอุ้มสายการบินอายุก่อตั้ง 85 ปีที่แบกรับภาวะขาดทุนและหนี้สินก้อนโตแห่งนี้มีไม่มากนัก แต่หนึ่งรายที่แสดงเจตจำนงมาแล้ว คือ “อินดิโก” สายการบินโลว์คอสต์ ที่ใจปํ้ายอมทุ่มซื้อทั้งกิจการ หรือบางส่วนแล้วแต่รัฐบาลจะยื่นเงื่อนไขที่น่าสนใจมาให้

แอร์ อินเดีย เริ่มถือกำเนิดเป็นสายการบินของเอกชนในปี 2475 ภายใต้ชื่อ “ทาทา แอร์ไลน์ส” โดยมหาเศรษฐีตระกูลดัง เยฮันเกอร์ ราทันจี ดาดาบอย ทาทา เริ่มให้บริการยุคแรกเป็นสายการบินขนส่งพัสดุระหว่างเมืองการาจีซึ่งเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียและเมืองบอมเบย์ ต่อมามีการขายโอนกิจการเป็นของรัฐบาล ขยับบริการเป็นสายการบินพาณิชย์ ขยายเส้นทางครอบคลุมเส้นทางบินหลักๆ ของโลก เป็นที่รู้จักแพร่หลายด้วยโฆษณาที่นิยมนำนักแสดงบอลลีวูดมาเป็นพรีเซนเตอร์ ทั้งยังมีบริษัทในเครือแตกหน่อออกไปจำนวน 5 บริษัท มีบริษัทร่วมทุน 1 บริษัท รวมจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 27,000 คนพร้อมทั้งสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ แอร์ อินเดีย ยังมีสินทรัพย์อีกหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เช่น พื้นที่อาคารพาณิชย์ใกล้สนามบินฮีตโธรว์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ดินในกรุงโตเกียว ฮ่องกง และไนโรบี ทั้ง หมดนี้ซื้อหามาในช่วงที่ธุรกิจกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู

จุดพลิกผันเริ่มขึ้นในปี 2550 เมื่อแอร์ อินเดีย ควบรวมกิจการบริษัทสายการบินภายในประเทศ “อินเดียน แอร์ไลน์ส” ซึ่งเป็นของรัฐบาลเช่นกัน เข้ามาไว้ร่วมเครือ ผลประกอบการของบริษัทเริ่มไม่เห็นกำไร แม้ว่าเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา (2559) บริษัทจะแถลงผลกำไรจากการดำเนินงาน 15 ล้านดอลลาร์สาเหตุหลักมาจากราคานํ้ามันที่ปรับลดลง แต่ในภาพรวมบริษัทก็ยังคงมียอดขาดทุนสุทธิก้อนใหญ่อยู่ดี โดยผู้ตรวจสอบบัญชีระบุว่า แอร์ อินเดีย แจ้งยอดขาดทุนตํ่าเกินจริงในระยะ 3 ปีก่อนสิ้นปีการเงิน 2558 โดยตัวเลขขาดทุนที่แจ้งกับยอดจริงที่ควรจะเป็น ต่างกันอยู่ถึง 64,200 ล้านรูปี

ก่อนหน้านั้นในปี 2534 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการแข่งขันมากขึ้นจากผู้ประกอบการเอกชน ทำให้แอร์ อินเดีย ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับสายการบินคู่แข่ง แต่ก็ยังประคองตัวมาได้ กระทั่งมีการควบรวมกิจการส่งผลให้แอร์ อินเดียต้องตกอยู่ในสภาวะเตี้ยอุ้มค่อม ผลประกอบการทรุดลงจนรัฐบาลต้องเข้ามาอุ้มด้วยทุนอัดฉีด 3 แสนล้านรูปี ร่วมด้วยมาตรการที่รัฐออกหน้าคํ้าประกันเงินกู้ของแอร์ อินเดีย แต่ก็ดูเหมือนความช่วยเหลือที่เข้ามาจะไม่เคยเพียงพอ รายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีระบุว่า การบริหารเงินกู้ระยะสั้นของแอร์ อินเดีย มีปัญหาเพราะทางสายการบินไม่สามารถทำรายได้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังไม่สามารถแปลงสินทรัพย์ที่มีให้กลายเป็นทุน จึงตกสู่วังวนความยุ่งเหยิงทางการเงินและการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ

ไม่เพียงเท่านั้น ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอร์ อินเดีย ยังถูกเตะตัดขาโดยสายการบินโลว์คอสต์อย่าง “อินดิโก” และ “สไปซ์เจ็ต” ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินภายในประเทศของบริษัท หดหายจาก 35% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เหลือเพียงราวๆ 13% ในเวลานี้ ขณะที่คู่แข่งที่เป็นสายการบินโลว์คอสต์จากต่างประเทศอย่างแอร์เอเชีย ก็ได้เข้ามากระหนํ่าซํ้าเติมให้สถานการณ์ของแอร์ อินเดีย ยํ่าแย่ลงไปอีก

[caption id="attachment_179194" align="aligncenter" width="503"] ผ่าวิกฤติแอร์ อินเดียขายกิจการ‘สายการบินแห่งชาติ ผ่าวิกฤติแอร์ อินเดียขายกิจการ‘สายการบินแห่งชาติ[/caption]

ความพยายามที่จะผ่าทางตันให้กับแอร์ อินเดียด้วยการขายกิจการนั้นเคยมีมาแล้วย้อนกลับไปเมื่อเกือบๆ 20 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการคัดค้านต่อต้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงาน กลายเป็นประเด็นขัดแย้งเผ็ดร้อนทางการเมือง แม้จนขณะนี้ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบการขายกิจการสายการบินแห่งชาติแล้วจากการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกมาก ว่าจะขายยกทั้งองค์กร หรือตัดส่วนธุรกิจออกแยกขายให้กับผู้ซื้อแต่ละราย นักวิเคราะห์กล่าวว่า การขายกิจการแอร์ อินเดีย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้ทางสายการบินจะมีสินทรัพย์ที่น่าสนใจอยู่มาก แต่ภาระหนี้สินก้อนมหึมาที่พ่วงมาด้วยก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560