9เดือนศอ.บต.โชว์ผลงานดีเด่นงานมิติใหม่

13 ก.ค. 2560 | 12:12 น.
ศอ.บต.ชูผลงาน 9 เดือน 9 ดี 9 เด่น รูปแบบงานมิติใหม่ พร้อมบูรณาการร่วมทุกภาคี ขับเคลื่อนงานการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (13 มิ.ย. 2560) เว็บไซต์ www.thaigov.go.th เผยแพร่ข่าว นายศุภณัฐ   สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ร่วมกับ นายประสิทธิ์ ชูเมือง นายเถลิงศักดิ์ ยกศิริ และนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เลขาธิการ ศอ.บต. แถลงผลการดำเนินงาน 9 เดือน 9 ดี 9 เด่น พร้อมบูรณาการร่วมทุกภาคี ขับเคลื่อนงานการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีสาระสำคัญดังนี้

 

ศอ.บต. ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยยุทธศาสตร์หลัก “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” พร้อมเป็นหน่วยงานกลางที่บูรณาการการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหา และพัฒนา ภายใต้แนวทาง “เสริมความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง ร่วมพัฒนาสู่ความยั่งยืน” เลขาธิการศูนย์ฯ  เปิดเผยว่า ศอ.บต. ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วย “ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ร่วมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนปฏิบัติการ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. และครม. โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนกลุ่มประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนามีความครบถ้วน สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวทาง “เสริมความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง ร่วมพัฒนาสู่ความยั่งยืน” จนเกิดผลงาน 9 เดือน 9 ดี 9 เด่น

โดยในด้านการเสริมความมั่นคง ประกอบด้วย  งานที่ 1 “บูโด-สุไหงปาดี สันติสุขที่แท้จริงของประชาชน” บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สร้างความรับรู้และบริการประชาชน อาทิ กระบวนการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนพื้นที่โดยรอบ การรับรู้สิทธิและความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน แก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

งานที่ 2 “การพัฒนาอาชีพเพื่อคืนคนดีสู่สังคม” เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มที่ผิดพลาดหรือสูญเสียโอกาสและพื้นที่ทางสังคม ให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อการมีงานทำและมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสังคม โดยไม่หวนกลับไปมีพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือสิทธิของผู้อื่น   งานที่ 3 “ความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ” ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกล่อลวงไปทำงานยังต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย จนถูกจับกุมดำเนินคดี โดยร่วมกันช่วยปัญหาและวางมาตรการป้องกัน

ด้านการเสริมความมั่นคง ประกอบด้วย  งานที่ 4 “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ทั้งระบบ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศและโลก ผ่านการขับเคลื่อนฐานรากและชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วขยายผลสู่เมืองอื่นอย่างเป็นรูปธรรม

งานที่ 5 “การสร้างนักธุรกิจเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั้งระบบ” เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในพื้นที่ สร้างโอกาสแก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้การออกแบบและสร้างสรรค์เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ก้าวทันไทยแลนด์4.0 สู่โลกสมัยใหม่

งานที่ 6 “เกษตรฐานรากหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขับเคลื่อนหัวใจสำคัญการทำเกษตรในพื้นที่ เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน ประยุกต์แนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรสู่ “เกษตรแปลงใหญ่” และ “เกษตรประชารัฐ” เพื่อให้เกิดระบบการดูแล ประสานความร่วมมือและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น

ด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย งานที่ 7 “สานพลังลูกเสือสันติสุขเพื่อการฟื้นฟูพหุสังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ใช้พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และทัศนคติที่ดีของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การเรียนรู้ความแตกต่าง สร้างความร่วมมือ ร่วมใจผ่านการลงมือทำกิจกรรมด้วยกัน ให้เกิดบรรยากาศการร้อยรัก สามัคคีของประชาชนในพื้นที่

งานที่ 8 “เก้าอี้สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว” ตามแนวทางรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  เปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้พิการ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย ผ่าน “เก้าอี้ สุขใจ”รวมทั้ง การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ปกครองให้มีการทำงานในบ้าน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอต่อการดูแลและพัฒนาศักยภาพต่อเนื่อง ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้น  และ

งานที่ 9 “จากผู้รับในวันนั้น สู่การเป็นผู้ให้ในวันนี้” เพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากดึงพลัง และความเข้มแข็งของผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ เพื่อไปสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฯ อื่นๆ ให้ได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อไป โดยเฉพาะพลังจากสตรีและเยาวชนที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานเยียวยาเพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้ง 9 งานของศอ.บต.ดังกล่าว เป็นมิติการทำงานรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเป้าหมายการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย โดยเฉพาะการทำงานเพื่อเสริมเป้าหมายความมั่นคง รวมทั้ง การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมี ศอ.บต. เป็นแกนกลางเชื่อมโยงการทำงาน

นอกจากนี้ ในมิติการทำงานเชิงรุก ศอ.บต. ยังสามารถเข้าถึงความต้องการของประชาชนในฐานะหน่วยงานในพื้นที่ที่อยู่กับประชาชน สามารถดำเนินงานได้ก่อนและเชื่อมโยงทุกหน่วยเข้ามาร่วมกัน ภายใต้ “โครงการ/กิจกรรมเชิงบูรณาการ” ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่หน่วยงานเจ้าภาพภายหลังการทำงานที่เป็นระบบแล้ว วันนี้ การทำงานของ ศอ.บต. ภายใต้ความสำเร็จข้างต้น ดำเนินการไปพร้อมกับภาคส่วนต่างๆ ภายใต้แนวทาง “สานพลังประชารัฐแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนาภคใต้” อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าทิศทางการทำงานในวันนี้ จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว