สนช.จ่อไฟเขียวกฎหมายจับโกงนักการเมือง

12 ก.ค. 2560 | 13:38 น.
สนช.จ่อไฟเขียวกฏหมายจับโกงนักการเมือง วางหลักจำเลยหนีอายุความไม่นับ จำเลยล่องหน ให้ศาลรับฟ้องได้ทันที

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่  13 กรกฎาคมนี้ จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวาระที่ 2-3 ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิกสนช.เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้แก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาในหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอมายังสนช. อาทิ มาตรา 6 ว่าด้วยการกำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวนค้นหาความจริง ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกำหนดว่าการพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

มาตรา 9 กำหนดให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประธานศาลฎีกาต้องแต่งตั้งจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควร

ขณะที่หมวด 2 ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มบทบัญญัติมาตราใหม่ คือ มาตรา 24/1 โดยกำหนดให้การดำเนินคดีอาญาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างการถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ในกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับ มาตรา 26 คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขโดยบัญญัติให้ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลโดยเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

นอกจากนี้ มาตรา 27 ยังบัญญัติว่าในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยแต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความดำเนินการแทนตนได้