รถไฟไทย-จีนมอบทล.สร้างช่วง3.5 กม.425 ล้านไม่ต้องประมูล

11 ก.ค. 2560 | 11:11 น.
ครม. มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100% เร่งเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบต่อไป ชี้มอบหมายให้กรมทางหลวง(ทล.) เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาเอง โดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล เพื่อให้เกิดการก่อสร้างโดยเร็วคาดลงมือต.ค.นี้

 

ar

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตอนที่ 1 (ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) ที่จะเริ่มก่อนในช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงินการก่อสร้าง 425 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กรมทางหลวง(ทล.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเอง โดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล เพื่อให้เกิดการก่อสร้างโดยเร็ว ซึ่งยืนยันว่าการก่อสร้างช่วงดังกล่าว ทล.สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเทคโนโลยีไม่มีความซับซ้อน

ทั้งนี้ การก่อสร้างตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม.นั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะต้องรอการพิจารณาสัญญา 2.1 (สัญญาการออกแบบ) ที่จะลงนามสัญญาในการประชุมครั้งที่ 20 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2560 และสัญญา 2.2 (สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงาน) ที่จะลงนามช่วงกันยายน 2560 ขณะที่ตอนที่ 2 – 4 นั้นจะทยอยดำเนินการตามลำดับ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้จีนรีบส่งแบบรายละเอียดมาให้ไทยภายใน 4 เดือนจากเดิมกำหนดไว้ที่ 8 เดือน ก่อนเดินหน้าเปิดประมูลประกวดราคาต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะดำเนินการพิจารณาหาแหล่งเงินทุน โดยคาดว่าจะใช้เงินกู้จากทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของค่าจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น จะใช้จากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ แผนการใช้จ่ายเงินในโครงการทั้งหมดในแต่ละปี แบ่งเป็นงบประมาณปี 2560 วงเงิน 2,648 ล้านบาท, ปี 2561 วงเงิน 43,097 ล้านบาท, ปี 2562 วงเงิน 62,216 ล้านบาท, ปี 2563 วงเงิน 59,702 ล้านบาท และปี 2564 วงเงิน 12,017 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งโครงการ 179,683 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดจากการประชุมร่วมครั้งที่ 19 ณ กรุงปักกิ่งนั้น สามารถปรับลดวงเงินเหลือ 179,413 ล้านบาท จากวงเงินออกแบบที่เดิมกำหนดกรอบไว้ที่ 1,824 ล้านบาท ลดลง 118 ล้านบาท เหลือ 1,706 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังแนะนำให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้สอดรับกับโครงการฯ ในการผลิตบุคลากรด้านระบบราง ป้อนให้กับอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง รวมถึงให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตั้งคณะกรรมการกลางของโครงการ

สำหรับ โครงการดังกล่าวมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคอีสานให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วย นอกจากนี้ยังเป็น 1 ในโครงการ “สิงคโปร์-คุนหมิง เรล ลิงค์” อีกด้วย

“ถ้าเราไม่ทำโครงการนี้ จะทำให้เสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นโครงการที่จะเชื่อมเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การขนส่ง รวมถึงการท่องเที่ยวของไทย ลาว จีน และในอนาคตจะเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคด้วย ทั้งนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมีระยะทาง 53,779 กิโลเมตร แบ่งเป็นที่เปิดให้บริการแล้ว 27,962 กิโลเมตร เป็นเส้นทางในจีนไปแล้ว 22,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ เส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีระยะทาง 12,030 กิโลเมตร และเส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผน 13,687 กิโลเมตร ขณะที่ตามแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงของไทยในอนาคตจะมีระยะทางทั้งสิ้น 1,723 กิโลเมตร”

นายอาคม กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2564 โดยในส่วนของอัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมานั้น จะคิดอัตราค่าบริการ 80-535 บาท และเพิ่มอัตรา 1.8 บาทต่อกิโลเมตร โดยกรุงเทพฯ-สระบุรี คิดค่าโดยสาร 278 บาท กรุงเทพฯ-ปากช่อง คิดค่าโดยสาร 393 บาท และกรุงเทพฯ-โคราช คิดค่าโดยสาร 535 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที รถออกทุกๆ 90 นาที สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 600 ที่นั่ง/ขบวน และคาดว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 5,310 คน/เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน/เที่ยว/วัน ในปี 2594

train

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development : TOD) ช่วงที่ 1 จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สระบุรี ปากช่อง และโคราช ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนของโครงการในช่วงที่ 1 หรือการเจริญเติบโตของเมืองในผลประโยชน์เชิงกว้างทางเศรษฐกิจได้ 11.68% และหากเปิดให้บริการกรุงเทพฯ-หนองคาย ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 13.52%

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 647 กิโลเมตรนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร แบ่งดำเนินการ 4 ตอน มี 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง แก่งคอย สระบุรี ปากช่อง และโคราช และช่วงที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 394 กิโลเมตร มี 4 สถานี ประกอบด้วย บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย

ประการสำคัญรถไฟเส้นทางนี้ยังจะเป็นแนวเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ จากใต้สุดของอาเซียนคือสิงคโปร์โดยสิงคโปร์อาจเชื่อมกับมาเลเซีย ดังนั้นจึงสามารถเชื่อมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย(อีอีซี)ได้อีกด้วย โดยตามบันทึกความตกลงกับจีนระบุว่าเส้นทางที่ 1 ช่วงหนองคาย-กรุงเทพ เส้นทางที่ 2 แยกจากแก่งคอย-มาบตาพุด โดยช่วงนี้ได้เจรจากับจีนมาโดยตลอด ว่าไทยมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่รองรับไว้แล้วจึงตัดช่วงการก่อสร้างแนวนี้ออกไปแต่ยังจะใช้ประโยชน์ของโครงการรถไฟทางคู่ตามปกติ