‘รับสร้างบ้าน’ไม่กระทบ พรก.แรงงานใหม่เหตุใช้น้อย-ตลาดชะลอตัว

15 ก.ค. 2560 | 04:24 น.
นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้านยันพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวไม่กระทบ สมาชิกใช้ แรงงานต่างด้าวจำนวนน้อย เฉพาะพื้นที่เกาะสมุยและเกาะภูเก็ต เพราะลักษณะงานรับสร้างบ้านไซต์ก่อสร้างไม่ใหญ่ เคลื่อนย้ายบ่อย ช่วง 6 เดือนแรกตลาดชะลอตัว แข่งขันราคารุนแรง

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงกรณีพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่ประกาศและบังคับใช้ แต่ถัดมาเพียงไม่กี่วันรัฐบาลต้องอาศัย ม.44 ประกาศชะลอให้มีผลบังคับใช้ออกไปก่อนว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะบังคับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่เชื่อว่าการกำหนดบทลงโทษสูงๆ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะปัญหาจริงๆ คือการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการแย่ๆ ซึ่งพิจารณาได้จากเมื่อพระราชกำหนดฯ ถูกประกาศออกมาบังคับใช้ เราได้เห็นภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แห่เดินทางกลับบ้านกันจำนวนมาก

[caption id="attachment_177877" align="aligncenter" width="336"] สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน[/caption]

ประเด็นคือ กฎหมายและกฎระเบียบมีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องกันเอง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ฉะนั้นการเพิ่มโทษสูงขึ้นจึงไม่น่าใช่ทางออกและแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่กลับจะกลายเป็นแรงจูงใจให้เกิดการคอร์รัปชัน หรือเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น นี่คือปัญหาของประเทศไทย

สำหรับ ธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น จากประสบการณ์และการสอบถามข้อมูลกับสมาชิกได้รับการยืนยันว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยมาก ยกเว้นบางพื้นที่ที่หาแรงงานไทยทำงานก่อสร้างยากมาก เช่น สมุย ภูเก็ต ฯลฯ เหตุก็เพราะลักษณะงานสร้างบ้านมีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานบ่อย และไซต์งานแต่ละแห่งใช้แรงงานจำนวนไม่กี่คน ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจึงไม่นิยมใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจาก 1.ควบคุมยากและมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย 2.ขั้นตอนขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานเสียเวลาและยุ่งยาก ทั้งนี้ไซต์งานก่อสร้างก็ไม่มีรั้วรอบขอบชิด เหมือนเช่นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และไม่ได้ปักหลักทำงานอยู่นานๆ

มองว่าการที่มีเสียงจากฟากผู้ประกอบการออกมาท้วงติงหรือไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องอยู่หรือเพียงแค่เกาะกระแสมากกว่า ไม่ใช่เหตุและปัจจัยที่เป็นผลกระทบหลัก สำหรับประเด็นที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ การอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการขออนุญาตต่างๆ เพื่อผู้ประกอบการก่อสร้าง และแรงงานต่างด้าวจะได้เต็มใจปฏิบัติตาม กฎหมาย และทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว หันมาใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ บ้านเดี่ยวสร้างเองทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (เมษายน-มิถุนายน 2560) พบว่าความต้องการของผู้บริโภคและประชาชนขยายตัวลดลง ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 ชะลอตัวตาม (มกราคม-มิถุนายน 2560) เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2559 จากมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.ผู้บริโภคยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 2.การใช้จ่ายเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคปรับตัวลดลง และ 3.ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจรับสร้างบ้าน

ด้านการแข่งขันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำมีการใช้อีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง ควบคู่กับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อจะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือรายที่เข้ามาใหม่ในตลาดสร้างบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า การแข่งขันตัดราคาในกลุ่มรายเล็กรายย่อยยังคงแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ขณะที่กลุ่มผู้นำตลาดปรับลดโทนการแข่งขันราคาลง หากเปรียบเทียบกับในช่วงระยะ 6 เดือนก่อนหน้านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560