ผู้นำที่พร้อมเรียนรู้ ทดลอง และปรับเปลี่ยน

15 ก.ค. 2560 | 00:08 น.
การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลให้การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตาม หากผู้นำต้องการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “พอล มาร์คา” ผู้บริหารระดับสูงจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มองเห็นเรื่องนี้มานานแล้ว จึงเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดโปรแกรมการเรียนนอกมหาวิทยาลัย และทำให้เกิดความร่วมมือกับ ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงหรือ South East Asia Center (SEAC) ที่มุ่งเน้นยกระดับผู้บริหารผ่านรูปแบบ Executive Education

[caption id="attachment_177768" align="aligncenter" width="335"] MP29-3278-B พอล มาร์คา[/caption]

ผู้บริหารระดับสูงคนนี้ มองว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คนที่รู้จักปรับตัว สร้างโมเดลใหม่ๆ จึงจะเป็นผู้ที่อยู่รอดได้ แม้แต่ธุรกิจการศึกษาก็เช่นกัน ที่มีการปรับโมเดล ไม่ใช่แค่อยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่มีอาจารย์เป็นฮีโร่ยืนอยู่หน้าห้อง สอนและบอกทุกอย่าง แต่อาจารย์ในโลกยุคใหม่ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นคนแนะนำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และต้องให้เกิดการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัย ด้วยการเอาเรื่องออนไลน์ ดิจิตอลคอนเทนต์ มาผสมผสานกับการเจอกันแบบตัวต่อตัว มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใช่...เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่ออยู่ให้ได้ในโลกยุคใหม่

“เมื่อเราอยู่ใน Disruptive World เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ เราจะใช้วิธีการมองแบบเดิมไม่ได้ เช่น คนที่อยู่ในธุรกิจอาหาร ไม่มีใครคิดว่าอเมซอนจะมาซื้อโฮลฟูดส์ได้ และเมื่อเปลี่ยนเจ้าของ มันก็เป็นการพลิกภาพของธุรกิจ”

[caption id="attachment_177767" align="aligncenter" width="335"] พอล มาร์คา พอล มาร์คา[/caption]

“พอล” เล่าว่า เขาเองก็จบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และรู้ดีว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในแคมปัส สแตนฟอร์ดจึงขยายเครือข่ายของมหาวิทยาลัยมาทางแถบภูมิภาคเอเชีย ด้วยการมองหาพาร์ตเนอร์ที่มี 2 มุม คือเข้าใจธุรกิจ และเข้าใจเรื่องของการศึกษา และเมื่อได้พาร์ตเนอร์ SEAC จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง SEAC และ Stanford Center for Professional Development ที่เขาเป็นผู้ดูแลโดยตรง กับโครงการ Leading in a Disruptive World (LDW) ซึ่งเป็นคอร์สเจาะลึกด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ

Stanford Center for Professional Development เป็นส่วนที่ทำเรื่องออนไลน์ ทำให้เข้าถึงคนที่อยู่ไกลออกไป และเครื่องมือสำคัญที่สแตนฟอร์ดใช้ก็คือ ดิจิตอล ดิสรัปชัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตรงนี้ ช่วยทำให้ สแตนฟอร์ดสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปถึงจุดที่ไม่เคยคิดว่าจะไปถึงได้มาก่อน และทำให้คนเราเรียนรู้และปรับตัวทัน แข่งขันได้

“พอล” บอกว่า ภารกิจหลักของเขาคือการทำให้เกิดการเรียนรู้นอกแคมปัส ซึ่งเขามีความเชื่อว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อมีความเชื่อ ก็ต้องลงมือทำทันที โดยไม่ต้องรอว่าต้องมีทุกอย่างพร้อมเสียก่อน...ความเชื่อของคนสแตนฟอร์ด คือ ต้องเน้นเรื่องแอกชัน คิดอะไรขึ้นมา ต้องลองทำเลย เมื่อรู้สึกเชื่อก็ทำเลย ไม่ต้องคิดนาน พอมาได้รับส่วนผสมแบบนี้ เลยคิดว่าน่าจะใช่

MP29-3278-D จากความเชื่อของเขา ทำให้เกิดโปรแกรม Leading in a Disruptive World หรือ LDW ที่เริ่มครั้งแรกไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ Silicon Valley ด้วยการนำผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กรไปร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไอเดียประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้นำขององค์กรต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากผู้นำองค์กร ที่ต้องรู้ตัวว่า จะนำองค์กรไปอย่างไร ใน Disruptive World ซึ่ง “พอล”มองว่า การขยายธุรกิจของสแตนฟอร์ด ในการสร้างผู้นำยุคใหม่ ผู้นำไทยมีความเหมาะสมกับการทดลองใหม่ๆ ของเขา เนื่องจากผู้นำไทยีเป็นผู้นำที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมๆ กับมีความเป็นเจ้าของ มองธุรกิจในระยะยาว และไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่มองไปถึงการสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการขยายความรู้เหล่านั้น ซึ่งต่างจากผู้นำประเทศอื่นๆ ที่โฟกัสอยู่แต่กับตัวเอง

“นักธุรกิจไทยเปิดรับ สามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง สามารถท้าทายความคิด ความเชื่อของตัวเอง นี่คือ สิ่งที่สัมผัสได้ ไทยจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ”...ซึ่ง “พอล” พร้อมที่จะขยายขอบข่ายการเรียนรู้นี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

“พอล” ยังทิ้งท้ายอีกว่า การเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ เมื่อเจอปัญหาอุปสรรค ต้องพร้อมที่จะลุกขึ้นลุยต่อ ไม่ท้อ อะไรใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและผิดพลาด ต้องไม่รู้สึกเสียใจ ไม่รู้สึกเสียหน้า ต้องล้มเร็วลุกเร็ว ต้องรู้จักทดลอง ทดลองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อะไร และรู้จักปรับเปลี่ยนระหว่างทาง

เช่นเดียวกับตัวเขาและมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เชื่อว่าตัวเองมีคอนเทนต์ดี ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วจาก อเมริกา ฝรั่งเศส บราซิล การเริ่มต้นจากเมืองไทย จะทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอด และพัฒนาไปสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560