‘ทีจี เอ็มอาร์โอ แคมปัส’ปักธงปี 64 ไทยฮับศูนย์ซ่อมอากาศยานโลก

15 ก.ค. 2560 | 07:00 น.
ในที่สุดหลังจากการบินไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ กับ บริษัทแอร์บัส อินดัสตรี จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน(Maintenance Repair and Overhaul) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2560 ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายก็บรรลุความร่วมมือขึ้นไปอีกขั้น ที่จะนำไปสู่กระบวนการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นเป็นสเต็ปต่อไป ภายในเดือนมีนาคม 2561

**ทีจี ใช้พื้นที่MROเต็ม 3 เฟส
ทั้งนี้จากแผนในการลงทุนที่จะเกิดขึ้น การบินไทย จะใช้ชื่อโครงการนี้ว่า “ทีจี เอ็มอาร์โอ แคมปัส” โดยเป้าหมายในโครง การนี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยานเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการขยายธุรกิจการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ ให้อยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าวด้วย อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงแลนดิ้งเกียร์ (ล้อเครื่องบิน), Composite Repair (การซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานที่เป็นนวัตกรรม เช่น คอมโพสิต, คาร์บอน ไฟเบอร์), ศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน แต่หัวใจหลักที่จะทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องนี้ได้

ไฮไลต์ที่ต้องทำให้เกิดก่อน คือการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงอากาศในระดับ Heavy Maintenance ซึ่งเป็นคีย์หลักที่การบินไทย จะลงทุนร่วมกับแอร์บัส และแผนในการดึงกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะเจ้าของสถานที่สนามบินอู่ตะเภา มาเป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมลงทุน เพื่อแจ้งเกิดโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ ยานดังกล่าวขึ้นมาก่อน

จากนั้นก็จะเกิดการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องตามมาได้ ในลักษณะของบริษัทลูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและดึงผู้นำในแต่ละธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาร่วมลงทุน เช่น การจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะใช้วิกฤติที่โรลส์-รอยซ์ มีปัญหาเรื่องการซ่อมเครื่องเทรนท์ 1000 ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีอยู่ไม่สามารถให้บริการได้ทัน ให้พิจารณาการเข้ามาร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานที่จะตั้งขึ้นมา เป็นต้น หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นที่จะเกิดขึ้น (ดูกราฟิก ประกอบ) เพื่อให้ครบลูปของธุรกิจ ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน

 

[caption id="attachment_177758" align="aligncenter" width="342"] ‘ทีจี เอ็มอาร์โอ แคมปัส’ปักธงปี64ไทยฮับศูนย์ซ่อมอากาศยานโลก ‘ทีจี เอ็มอาร์โอ แคมปัส’ปักธงปี64ไทยฮับศูนย์ซ่อมอากาศยานโลก[/caption]

**เปิดแผนลงทุน 1.5 หมื่นล.
ดังนั้นตามที่การบินไทย ได้ทำการศึกษาร่วมกับแอร์บัสในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่เพียงการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานในเฟสแรก ที่สนามบินกันพื้นที่ไว้ให้เท่านั้น แต่ต้องการพื้นที่ MRO ทั้ง 3 เฟสที่สนามบินอู่ตะเภาบล็อกพื้นที่เอาไว้ ภายใต้งบลงทุนเบื้องต้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากแผนที่ทำร่วมกันแล้วเสร็จในราวเดือนตุลาคมนี้ ก็จะทำให้ทราบความชัดเจนเรื่องของสัดส่วนการร่วมลงทุน แผนธุรกิจที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ผ่านกระบวนการ PPP (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) ที่วางไว้ว่าจะเป็นช่วงเดือนมีนาคม 2561 เพื่อดำเนินการลงทุน และเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนี้ได้ภายในปี 2564

ทั้งนี้แม้ศูนย์ซ่อมนี้ จะเป็นการลงทุนการบินไทยและแอร์บัส แต่ศักยภาพของศูนย์ซ่อมแห่งนี้ จะรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานได้ทั้งเครื่องบินของโบอิ้งและแอร์บัส โดยจะเน้นการซ่อมบำรุงอากาศยานแบบลำตัวกว้าง ซึ่งเป็นเครื่องบินนิวเจเนอเรชัน อาทิ แอร์บัสเอ 380 แอร์บัส 350 โบอิ้ง777 โบอิ้ง 787 รวมไปถึงแอร์บัส320 ที่เป็นรุ่นใหม่ๆ โดยศูนย์ซ่อมที่จะเกิดขึ้น จะรองรับการซ่อมใหญ่อากาศยานได้ทุกรูปแบบและเป็นโรงซ่อมเครื่องบินอัจฉริยะหรือสมาร์ท แฮงกา อาทิ การใช้โดรนเข้ามาตรวจสอบเครื่องบิน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะแตกต่างจากศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศสิงคโปร์ ที่ส่วนใหญ่จะเน้นการซ่อมบำรุงเครื่องบินทางเดินเดียว หรือลำตัวเล็ก เช่นแอร์บัสเอ 330

**ปีแรกซ่อมเครื่องบินไทย50ลำ
ร.ท.รณชัย วงศ์ชะอุ่ม หัวหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า โรงซ่อมเครื่องบินที่จะเกิดขึ้น จะเป็น สเกลขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับการซ่อมเครื่องบินเอ 380 ได้พร้อมกัน 3 ลำ เน้นการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความทันสมัย และรองรับเครื่องบินลำตัวกว้าง ที่มีการรับมอบเพิ่มขึ้น คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีเครื่องบินใหม่ของทั้งแอร์บัสและโบอิ้งเข้าสู่ตลาดการบินมากถึง 2 หมื่นลำทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในเอเชียราว 1.4 หมื่นลำ ที่เราจะดึงมาเป็นลูกค้าได้

“เราตั้งเป้าว่าศูนย์ซ่อมแห่งนี้จะก้าวเป็นศูนย์ซ่อมอากาศ ยานอันดับ 1 ของโลกได้ หลังเปิดให้บริการในปี 2564 เนื่องจากการทำงานที่มีเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความทันสมัยมาก ทำให้ศักยภาพสามารถรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินนิวเจเนอเรชัน, ช่วยให้ต้นทุนไม่สูง และเพิ่มคุณภาพการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยช่วง 5 ปีแรกของการเปิดให้บริการ เครื่องบินหลักที่จะนำมาซ่อมมองไว้ว่าจะอยู่ที่ 40-50 ลำ ซึ่งจะเริ่มจากฝูงบินของการบินไทยก่อน จากนั้นก็จะขยายการให้บริการไปให้สายการบินอื่นๆ ต่อไป”

อีกทั้งศูนย์ซ่อมดังกล่าว ยังจะทำให้การบินไทยมีรายได้จากการซ่อมอากาศยานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.2 พันล้าน บาท เพิ่มเป็นราว 2 พันล้านบาทเมื่อเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภาในปี 2564 ส่วนศูนย์ซ่อมของการบินไทย ที่สนามบินดอนเมือง ก็จะดำเนินการสำหรับรองรับเครื่องบินรุ่นเก่าที่สายการบินต่างๆ ทำการบินอยู่

อย่างไรก็ตามแม้ศูนย์ซ่อมที่สนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการในปี 2564 แต่ในขณะนี้การบินไทยและแอร์บัส ก็ต้อง เตรียมเรื่องของการผลิตบุคลากรไว้รองรับ จึงนำไปสู่การลงนามเอ็มโอยู ระหว่างการบินไทยและสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการผลิตช่างอากาศยาน เพื่อสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่การบินไทยจะดำเนินการร่วมกับแอร์บัส ที่สนามบินอู่ตะเภา เน้นระดับปวช. และ ปวส. ปีแรกน่าจะอยู่ที่ราว 100-200 คน
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ ที่หวังว่าจะเปิดให้บริการอีก 4 ปีข้างหน้านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560