กรมชลฯเร่งระบายน้ำท่วมขัง 5 จังหวัดยังวิกฤติผวาฝนถล่มซ้ำ

11 ก.ค. 2560 | 08:13 น.
thumbnail_DSC_6398

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ  ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง มีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 – 50 ของความจุลำน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงรองรับน้ำได้อีกมาก โดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 993 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.51 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(11 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,006 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 8,565 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,332 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,829 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,636 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ สรุปได้ ดังนี้ จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่น้ำท่วมในเขตตำบลหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ประมาณ 2,000 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 10 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก รวม 24 เครื่อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้

 

na จังหวัดนครสวรรค์ เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตตำบลตาคลี ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี ประมาณ 3,500 ไร่ และตำบลเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี 6,000 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3-4 วัน

จังหวัดชัยนาท เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก พื้นที่ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ ประมาณ 5,000 ไร่ และตำบลเสือโฮก อำเภอเมือง ประมาณ 1,000 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ลดการระบายน้ำผ่าน ปตร.มโนรมย์ เหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ไหลลงได้ดียิ่งขึ้น หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้

จังหวัดสระบุรี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ม.4 ต.บางโขมด อ.บ้านหมอ และพื้นที่ฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3-4 วันนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่นอกคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา นั้น จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของเจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 10 เมื่อวานนี้(10 ก.ค. 60) ราษฎรในพื้นที่ได้แจ้งว่า ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ที่สำคัญราษฎรมีโอกาสที่จะหารายได้เสริมจากการหาปลาออกจำหน่ายอีกทางหนึ่งด้วย พร้อมกันนี้ ยังได้แสดงความพึงพอใจที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา นั้น มีน้ำท่วมขังประมาณ 300 – 400 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยใช้เครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 – 5 วันนี้

จังหวัดสกลนคร ได้เร่งการระบายน้ำออกจากหนองหาร เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม ส่งผลให้พนังกั้นน้ำลำน้ำก่ำขาดที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ได้เร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำ โดยได้ยกบานประตูระบายน้ำหนองบึง ประตูระบายน้ำนาขาม และประตูระบายน้ำนาคู่แล้ว แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่ระบายจากประตูระบายน้ำสุรัสวดี มีปริมาณมากเกินกว่าศักยภาพของ ลำน้ำก่ำที่จะรับได้ ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง 2 ฝั่งของลำน้ำก่ำ และกัดเซาะคันพนังกั้นน้ำขาด ส่งผลให้น้ำบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่บ้านด่านม่วงคำ อ.โคกศรีสุพรรณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ได้เร่งใช้เครื่องจักรเครื่องมือเข้าดำเนินการซ่อมแซมและปิดกั้นคันที่ขาดโดยเร็วแล้ว

k

ทั้งนี้ ฝนที่ตกชุกในพื้นที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเฉพาะข้าวนาปี จึงต้องเร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ อีกทั้งยังจะเป็นการเตรียมพร้อมรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไปด้วย

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าสภาพน้ำท่าทางตอนบนของประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 993 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลลงมาสมทบเพิ่มเติมบริเวณด้านเหนือ เขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 99 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้บริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ประมาณ 40,000 ไร่ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ โดยจะเร่งระบายน้ำผ่านไซฟ่อนบางโฉมศรี พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำปลายคลองระบายชัยนาท-ป่าสัก2 (บางโฉมศรี) เพื่อเสริมการระบายน้ำอีก 18 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายออกมาจากทุ่งเชียงราก เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 228 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด