เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา คอร์รัปชันนั้นแย่จริงหรือ?

12 ก.ค. 2560 | 03:24 น.
Tp7-3278-ac เวลาคุณได้ยินคำว่าคอร์รัปชัน คุณนึกถึงอะไรกันบ้างครับ ถ้าคุณนึกถึงสิ่งเลวร้าย สกปรก น่ารังเกียจ นั่นแสดงว่าคุณเป็นคนปกติทั่วไปเหมือนผม หรือต่อให้เป็นคนขี้โกง เขาก็ไม่ได้เห็นคอร์รัปชันเป็นสิ่งสวยงามหรอกครับ แต่เพราะคนโกงเหล่านี้มักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองเสมอและเขามักคิดว่าผลประโยชน์จากการโกงนั้นมันเหนือกว่าความเลวร้ายจากการโกง แต่เชื่อไหมครับว่าครั้งหนึ่งในอดีต เคยมีการถกเถียงกันในวงการวิชาการว่าคอร์รัปชันนั้น อาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอย่างที่เราคิดเสมอไป

ในช่วงปี 1960-1990 แนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศเน้นเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องรองไปเสียหมด รวมไปถึงการบริหารจัดการภาครัฐด้วย ในช่วงนั้นนักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงพยายามชี้ให้เห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขบางประการ คอร์รัปชันอาจไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เงื่อนไขข้อที่ 1 คือ สำหรับประเทศขาดแคลนทุนเพื่อพัฒนา การคอร์รัปชันอาจนำไปสู่การสะสมทุนได้ และหากทุนที่สะสมนี้ถูกนำกลับมาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่สามารถเติบโตสูง ก็จะทำให้อัตราการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นได้ด้วย

เงื่อนไขที่ 2 คือ หน่วยงานภาครัฐขาดประสิทธิภาพ ทำงานสุดจะเชื่องช้าเมื่อนั้นการคอร์รัปชันสามารถช่วยพาฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้ เสมือนนํ้ามันหล่อลื่นวงล้อที่แสนฝืดของภาครัฐ เรื่องนี้ในปี 1971 Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ อธิบายว่าการคอร์รัปชันช่วยให้นักธุรกิจฝ่าระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพได้ และเมื่อธุรกิจดำเนินการมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจก็ดีขึ้นเป็นเงาตามกัน

ประเด็นนี้ในปี 1965 ศาสตราจารย์ Colin Leys ยกตัวอย่างประเทศ ยูกันดาที่ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพมาก ขนาดว่าหลายประเทศทั่วโลกมีโทรทัศน์ดูกันหมดแล้ว ตัวเองยังไม่มีดู กระทั่งวันหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลได้ยกสัมปทานเครือข่ายโทรทัศน์ทั้งหมดให้บริษัทต่างชาติ แลกกับช่องสัญญาณช่องหนึ่งให้ตนในราคาถูกถึงแม้เป็นการคอร์รัปชันชัดเจน แต่ผลลัพธ์คือเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคนยาแล้ว คนยูกันดามีโทรทัศน์ดูก่อน แถมถูกกว่าอีก

เงื่อนไขที่ 3 คือ ภายใต้สภาวะความเป็นจริงที่บางนโยบายเศรษฐกิจนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาด การไปบิดซํ้าอีกชั้นหนึ่งด้วยคอร์รัปชันสามารถพลิกกลับสู่สวัสดิการสังคมที่ดีขึ้นได้ แบบที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่บราซิล เมื่อการคอร์รัปชันกลายเป็นทางออกให้กับนโยบายรัฐบาลที่ผิดพลาด เรื่องนี้ในปี 1964 ศาสตราจารย์ Nathaniel H.Leff อธิบายว่าช่วงที่ทวีปอเมริกาใต้มีปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ราคาอาหารสูงมาก รัฐบาลบราซิลและชิลีจึงใช้นโยบายตรึงราคาอาหาร ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด

ผลคือในชิลีที่เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้นโยบายเข้มงวด ผู้ผลิตอาหารจึงลดการผลิตลง เพราะขายก็ขาดทุนทำให้วิกฤติขาดแคลนอาหารทวีความรุนแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐของบราซิลรับสินบนกันอย่างกว้างขวาง ยอมให้ผู้ผลิตแอบขึ้นราคาได้ ทำให้มีการผลิตอาหารเพิ่ม จนในที่สุดราคาลดลงเองตามกลไกตลาด และหลุดจากสภาวการณ์รุนแรงนี้ไปได้

กลายเป็นว่าคอร์รัปชันมีความดีอยู่ ซึ่งขัดกับความรู้สึกของหลายๆ คนรวมถึงผมด้วยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมา โดยเฉพาะช่วงหลังปี 1990 ความคิดเหล่านี้ถูกโต้แย้งอย่างมาก จนในที่สุดวงวิชาการหันไปสนับสนุนแนวความคิดว่าคอร์รัปชันสร้างผลกระทบทางลบอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์

แนวความคิดใหม่นี้มีเหตุผลสนับสนุนหลายประการ เช่น ประการแรก แนวคิดว่าคอร์รัปชันแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของกฎระเบียบและระบบราชการได้ถูกมองเป็นเพียงมายาคติ เรื่องนี้ในปี 2009 Toke Aidts อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้ว่าเมื่อคอร์รัปชันแก้ความไร้ประสิทธิภาพได้ ความไร้ประสิทธิภาพก็เป็นตัวสร้างโอกาสคอร์รัปชันเช่นกัน หรือพูดง่ายๆ คือถ้ายอมให้โกงเพื่อข้ามความไร้ประสิทธิภาพได้ ผู้มีอำนาจก็จะสร้างกฎระเบียบที่ไร้ประสิทธิภาพกว่าเดิมเพื่อแสวงหาโอกาสโกงเพิ่มอีก

ประการที่ 2 คอร์รัปชันทำให้สินค้าและบริการที่รัฐบาลมอบให้ประชาชนได้แย่ลงถึง 2 ทาง ทางแรกคือทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2005 Ritva Reinikka นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก และ ศาสตราจารย์ Jakob Svensson แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม พบว่างบประมาณด้านการศึกษาเพื่อสนับสนุนโรงเรียนในยูกันดามีการรั่วไหลจากคอร์รัปชันไปถึง 80% ส่งผลให้โรงเรียนต้องเก็บค่าเล่าเรียนสูงขึ้นเพื่ออยู่รอด คนรับกรรมก็คือพ่อแม่ที่จ่ายค่าเทอม และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น ผู้ได้รับผล กระทบสูงสุดคือผู้มีรายได้น้อย เรื่องนี้ในปี 2002 Sanjeev Gupta, Hamid Davoodi และ Rosa Alonso-Terme พบว่าระดับการคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนยากจนลดลงอย่างมาก

ทางที่ 2 คือ คอร์รัปชันเปลี่ยนสิ่งดีๆ เป็นสิ่งห่วยๆ กล่าวคือ นโยบายหนึ่งๆ อาจถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่การคอร์รัปชันไปบิดเบือนนโยบายนั้น เช่น ทำให้งบประมาณที่เหลือใช้จริงลดลง ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบนโยบาย ส่งผลให้ประโยชน์ลดลงหรือกลายเป็นผลเสียไปเลย ตัวอย่างชัดๆ ในไทยคือ โรง บำบัดนํ้าเสียคลองด่าน ซึ่งเดิมธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนทุนมาศึกษาอย่างดี คิดว่าจะแก้ปัญหานํ้าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการ ปรากฏว่าโดนนักการเมืองและข้าราชการรุมทึ้งผลประโยชน์เกือบทุกส่วน สุดท้ายตอนนี้เหลือเป็นซากปรักหักพังมูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่นอกจากใช้ประโยชน์ไม่ได้ ยังเบียดบังทำลายพื้นที่ปากแม่นํ้าเจ้าพระยาที่บางส่วนเคยเป็นป่าชายเลนอีก

ประการสุดท้าย ซึ่งผมคิดว่าน่ากลัวมากที่สุดและร้ายแรงกว่าผล กระทบทางเศรษฐกิจคือ ผลกระทบทางอ้อมต่อร่างกายและจิตใจของคน เช่นหลายครั้งที่คอร์รัปชันทำให้โครงการก่อสร้างใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ตึกพังถล่มลงมาผู้คนบาดเจ็บเสียชีวิตมากมาย และอีกหลายครั้งที่คนดีๆเก่งๆถูกกลั่นแกล้งโดยคนโกง ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้ทำดีต่อ ดังนั้นเมื่อผล กระทบของการคอร์รัปชันหมายถึงชีวิตและจิตใจของคนมันจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และจำเป็นจะต้องถูกต่อต้าน

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่าแม้คอร์รัปชันจะเคยถูกมองว่าอาจไม่ได้แย่ไปเสียหมด แต่ความคิดเหล่านั้นก็ถูกโต้แย้งแทบจะหมดสิ้นทุกแง่มุม จนเรียกได้ว่าเป็นอดีตไปหมดเสียแล้ว จนถึงวันนี้ข้อถกเถียงทางวิชาการจึงไม่ใช่คอร์รัปชันดีหรือไม่ดีอย่างไรแล้ว แต่เป็น “จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร เพราะมันไม่ดี” ดังนั้นผมจึงหวังว่าประเทศไทยเราจะเรียนรู้จากอดีตแต่ไม่เดินวนอยู่กับความล้าหลังทางความคิด และมุ่งไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560