กสอ.ทุ่มกว่า900ล้านเปิดศูนย์ ITC อัพเกรดSMEsไทยสู่สินค้ามูลค่าสูง

10 ก.ค. 2560 | 05:24 น.
 

กสอ.ทุ่มงบกว่า900 ล้าน เตรียมเปิดศูนย์ ITC อัพเกรดเอสเอ็มอีไทยสู่สินค้ามูลค่าสูง  หวัง สร้างแลนด์มาร์ครวมนวัตกรรมไฮเทคขานรับอุตฯ 4.0  พร้อมโชว์นวัตกรรม “OXYGEN HOOD - อุปกรณ์การให้ออกซิเจนชนิดครอบศีรษะ” ชิ้นงานตัวอย่างนวัตกรรมอุตฯขั้นสูง ชี้ผลิตใช้จริง  ดันอีกกว่า 125 ผลิตภัณฑ์ ใน5 ปี

 

pasu1

ดร.พสุ  โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบโครงการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ยุคประเทศไทย 4.0 (Industry Transformation for Thailand 4.0) พร้อมด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC)  เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  ที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับความพร้อมในการให้บริการของศูนย์ฯรวมทั้งหน่วยงานและระบบปฏิบัติการสำหรับส่งเสริมผู้ประกอบการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยหลังจากนี้ กสอ.  จะเร่งการประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวางให้เกิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการ  ได้เห็นความสำคัญของการปฏิวัติสินค้าและบริการด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อผลักดันไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยจะนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางเอาไว้

สำหรับรูปแบบการทำงานของศูนย์ฯ  จะไม่ได้ทำงานแค่เพียงลำพังเท่านั้น แต่จะเป็นศูนย์กลางที่ดึงหลากหลายหน่วยงาน  ที่มีความชำนาญทางด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ  สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน  โดยในเบื้องต้นได้รับความร่วมมือทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันพลาสติก สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมหลัก ได้แก่

กิจกรรมปฏิรูปนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการปฏิรูปผลิตภัณฑ์ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2. กิจกรรมปฏิรูปกระบวนการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมและการพัฒนาโรงงานแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะมุ่งเน้นการนำโปรแกรม อุปกรณ์เครื่องมือ หรือนวัตกรรมขั้นสูงต่าง ๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือใช้ในระบบการผลิตที่สอดคล้องกับ Global Value Chain  รวมทั้งการวางระบบพัฒนาบุคลากร  การปรับปรุงสถานที่ที่มีความทันสมัย  ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยใช้ต้นแบบจากผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศให้เกิดขึ้นในสถานประกอบการ

itc3

โดยทั้ง 2 กิจกรรมหลักนี้ เบื้องต้นได้วางกรอบงบประมาณ  ภายใต้โครงการปฏิรูปอุตสาหกรรมประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ที่ 924 ล้านบาท ในการพัฒนาทั้งผู้ประกอบการ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการ และผลิตภัณฑ์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 5 ปี

สำหรับฟังก์ชั่นบริการของศูนย์ ITC มีองค์ประกอบ 4 ส่วนได้แก่  1. ITC Match ศูนย์กลางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลกและระดับประเทศและเครือข่าย SMEs ไทย เพื่อให้บริการความร่วมมือทางธุรกิจ การพบปะและหารือกับ LEs  หรือ SMEs ของไทยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ชักจูงให้เกิดการลงทุนในศูนย์ฯเพื่อพัฒนาให้ SMEs มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

2.  ITC Innovate ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน  ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs รวมถึงการพัฒนาและบ่มเพาะให้เกิดงานวิจัยและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ  นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักรที่ช่วยขึ้นรูปงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 3D Printer Haptic system สามารถรองรับการบริการให้กับ SMEs และ Startup

3. ITC Share  แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ และกำลังคนที่มีทักษะสูงเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรม โดยจัดให้มี Co-Working Space ให้คนเข้ามาติดต่อใช้บริการ Inspiration Galley การแสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จ Workshop ให้คนมาสร้างต้นแบบ Learning Factory ให้คนมาทดลองเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

4. ITC Fund ศูนย์บริการโปรแกรมและนโยบายสนับสนุนทางการเงิน ผ่านช่องทางต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สู่ SMEs เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

โดยทั้ง 4 แพลตฟอร์มจะถูกบรรจุเป็นการบริการในรูปแบบต่าง ๆ ในศูนย์ปฏิบัติการ ITC ซึ่งประกอบไปด้วย 1. อาคารต้นคิดสตูดิโอ อาคารเพื่อการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs พร้อมด้วย  Co-Working Space ภายในอาคารที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้พื้นที่ทำงานได้ 2. อาคารต้นกล้าสตูดิโอ อาคารสำหรับแสดงผลงาน หรือจัดนิทรรศการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ  3. อาคารปฏิบัติการ Shop A และ Shop B ศูนย์รวบรวมเครื่องจักรและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญในการต่อยอดงานต้นแบบด้วยการผลิตสินค้าทดลองในตลาดได้

itc1

สำหรับศูนย์นี้ตั้งอยู่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตรถนนพระรามที่ 4 ซึ่งใกล้เคียงกับหน่วยงานสถาบันเครือข่าย อาทิ สถาบันพลาสติก สถาบันสิ่งทอสถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันยานยนต์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ยังมีหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมตั้งอยู่  โดยการรวมตัวที่เกิดขึ้นจะช่วยเอื้อประโยชน์และความสะดวกต่อการดำเนินงานในบางประเภทได้อย่างมีนัยสำคัญ

ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ความพร้อมในการเปิดให้บริการ ในขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ จำนวน 95 ราย ในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 70 ราย (เพิ่มผลิตภาพด้วยหุ่นยนต์) ชิ้นส่วนอากาศยาน 10 ราย (มาตรฐาน AS9100) และเครื่องมือแพทย์ 15 ราย (ต่อยอดนวัตกรรม) ตลอดจนการเชื่อมโยงนักวิจัยและเตรียมการกับ Global Player (AGP และ MEDIANA) จำนวน 6 รายโดยเบื้องต้นคาดว่าศูนย์ฯ และบริการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 และคาดว่าน่าจะพร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ นักวิจัย และบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากนี้ จากแผนพัฒนาโครงการฯ ในระยะเวลา5 ปี กสอ.คาดว่าการส่งเสริมจากศูนย์ ITC นั้นจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านบุคลากรรองรับการปฏิรูปอุตสาหกรรมศักยภาพได้อย่างน้อยจำนวน 14,000 คน สามารถนำเอาความรู้ไปพัฒนาองค์กรของตนให้เข้าสู่อุตสาหกรรมศักยภาพใหม่ได้ 40% มีการพัฒนาสถานประกอบการได้อย่างน้อย 430 กิจการ สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นระบบ Digital  ได้ 80%  และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,720 ล้านบาท หรือประมาณ 4 ล้านบาทต่อ กิจการ และสามารถพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 125  ผลิตภัณฑ์ และต่อยอดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 250 ล้านบาท รวมถึงเกิดความร่วมมือในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รับบริการจากหน่วยงานเครือข่ายต่างๆในการสนับสนุนการวิจัย ฯลฯ

itc2

อย่างไรก็ดี ศูนย์ ITC ยังได้ใช้งบประมาณบางส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2560 ในการเตรียมความพร้อมสถานประกอบการเพื่อการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ (Pre-Transformation) และเพื่อผลิตชิ้นงานต้นแบบและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต่อยอดได้ในทางอุตสาหกรรมภายใต้งบประมาณ 153.4 ล้านบาทไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยได้แบ่งใช้ในการพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและขนส่งระบบราง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมพลาสติกวิศวกรรมและไบโอพลาสติก

โดยเบื้องต้นได้เกิดชิ้นงานและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์แล้ว อาทิ OXYGEN HOOD - อุปกรณ์การให้ออกซิเจนชนิดครอบศีรษะ,Cancer Mask – หน้ากากยึดจับสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง, Spacer-อุปกรณ์ช่วยพ่นยาโรคหอบหืดColostomy Bag - ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียม, Flat Feet Insole แผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยโรคเท้าแบน เป็นต้น ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย