เตือน ! นายจ้างอย่าใช้โบรกเกอร์เถื่อน เสี่ยงค้ามนุษย์

10 ก.ค. 2560 | 04:21 น.
 

กรมการจัดหางาน เตือนนายจ้าง/ผู้ประกอบการ อย่าใช้บริการจากนายหน้าเถื่อน ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ย้ำนายจ้างนำเข้าได้ด้วยตนเองหรือใช้บริการผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

แรงงาน-2
นายวรานนท์  ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน  เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศเพื่อไปดำเนินการตรวจสัญชาติและกลับเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในช่วง 180 วันที่ชะลอบทลงโทษนายจ้างและคนต่างด้าวใน 4 มาตราคือ 101 102 119 และ 122 ดังนั้นจึงส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการต่างๆ เช่น กลุ่มโรงสี กลุ่มแรงงานเกษตร เป็นต้น ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่โดยใช้บริการของนายหน้าและโบรกเกอร์  ด้วยเหตุนึ้จึงเป็นช่องทางให้กระบวนการนายหน้าอ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานเรียนชี้แจงว่าผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมี 2 กลุ่มคือ 1) นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2) ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขอย้ำเตือนว่าหากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศหรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง  และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

A Myanmar migrant works in a Taiwan-owned garment factory in the northwestern Thai town of Mae Sot May 24, 2007. The Thai government grandly calls it an "export processing zone." A more appropriate term for the town of Mae Sot, nestled in jungle-clad hills on the border with army-ruled Myanmar, might be "sweatshop labour camp". To match feature MYANMAR-THAILAND/WORKERS. Picture taken May 24, 2007. REUTERS/Sukree Sukplang (THAILAND)

นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศจำนวน 81 แห่งทั่วประเทศ โดยในกรุงเทพฯ จำนวน 38 แห่ง ส่วนภูมิภาค จำนวน 43 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวงดังกล่าว ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 1729 , 0 2354 1386 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694