‘ประสงค์’ขันนอต 4 ภารกิจ สรรพากรเร่งเครื่อง ภาษีบัญชีเดียว

12 ก.ค. 2560 | 08:05 น.
กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรอผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(e-Business) ผ่านทางเว็บไซต์ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางดำเนินงานในช่วงปลายปีงบ ประมาณ 2560 ว่า จากนี้กรมสรรพากรเตรียมดำเนินงานโดยให้นํ้าหนักใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ภายในเดือนตุลาคม 2560 นี้จะเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเพื่อแจ้งเบาะแส กรณีที่พบผู้ประกอบการ หรือร้านค้า และภาคธุรกิจที่ไม่มีการออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าหรือ แม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีปลอมและไม่ถูกต้องเพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ดำเนินธุรกิจถูกต้องและในรายที่ยังไม่เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง

กระบวนการแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชัน กรมสรรพากรได้ออกแบบป้องกันมิให้เกิดการกลั่นแกล้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยผู้ที่จะแจ้งเบาะแสนั้นจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน จากนั้นสามารถถ่ายใบเสร็จ ใบส่งสินค้า แจ้งมายังกรมสรรพากร ซึ่งแอพพลิเคชันจะสามารถพิสูจน์ตัวตนของคนแจ้งเบาะแสและแสดงสถานที่เหตุการณ์เป็นเรียลไทม์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลบ่งบอกให้เข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมภายหลังได้รับคำแจ้งเบาะแสไม่เกิน 15 วัน

ประการต่อมา การดำเนินการภายใต้กฎหมายต่อต้านการฟอกเงินโดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน(Financial Action Task Force: FATF) ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี ซึ่งกำหนดความผิดที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินไว้ใน 3 มาตราคือ มาตรา 37 มาตรา 37ทวิ และมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่นำส่ง-เสียภาษีสรรพากร ถ้าความผิดนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงหรือฉ้อฉลตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือกรณีขอคืนภาษีโดยเป็นเท็จ/ฉ้อโกง/อุบาย ตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป เหล่านี้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน

ประการที่ 3 การสนับสนุนบริษัทนิติบุคคลจัดทำบัญชีเดียว ซึ่งผลจากเก็บตัวเลขในปี 2559 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรจะแยกบัญชีเดียวเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และอีกกลุ่มมีรายได้เกิน 500 ล้านบาท

ขณะนี้พบว่ากลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทจะเพิ่มขึ้นกว่า 6% จากอดีตอยู่ที่ประมาณ 0.7% เช่นเดียวกับกลุ่มที่รายได้เกิน 500 ล้านบาทที่มีรายได้เพิ่มกว่า 3% จากก่อนหน้ามีรายได้เพิ่มค่อนข้างน้อยมาก จึงสะท้อนว่าการจัดทำระบบบัญชีเดียวช่วยผู้ประกอบการด้านยอดขายและการใช้สินเชื่อในอนาคตเพราะในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะยึดบัญชีเดียวที่ผู้ประกอบการนำส่งงบการเงินกับกรม สรรพากร ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

นอกจากนี้ผู้ประกอบการทำธุรกิจออนไลน์ที่ผ่านมา กรมสามารถเรียกประเมินภาษีแล้ว ประมาณ 2,000 ราย มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการจัดทำเรื่องบัญชีเดียวโดยวิธีของกรมสรรพากรเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ หากไม่เข้าสู่ระบบธุรกิจเขาจะเล็กลงเรื่อยๆ

[caption id="attachment_176867" align="aligncenter" width="392"] ‘ประสงค์’ขันนอต4ภารกิจ สรรพากรเร่งเครื่อง ภาษีบัญชีเดียว ‘ประสงค์’ขันนอต4ภารกิจ สรรพากรเร่งเครื่อง ภาษีบัญชีเดียว[/caption]

ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ที่เปิดดำเนินการและมีลูกค้าคุ้นชินแล้ว แต่หากสรรพากรไปตรวจ แต่ละเว็บไซต์ต้องปิดเพื่อหนีการตรวจสอบของกรม แล้วต้องไปเปิดเว็บไซต์ใหม่ ย่อมเสียโอกาสในการทำธุรกิจอีกทั้งยังต้องสร้างฐานลูกค้าใหม่ สร้างความเชื่อถือใหม่ และในวันข้างหน้าจะมีผู้ประกอบการเว็บไซต์ต่างประเทศเข้ามาจะทำให้ผู้ประกอบการหรือร้านค้าคนไทยจะเสียโอกาส

ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างแก้ไขประมวลรัษฎากรอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยยังไม่สรุปเนื้อหาและจำนวนมาตราแต่กรมเสนอไป 22 มาตรา สาระสำคัญจะกำหนดกรมสรรพากรเป็นผู้มีอำนาจที่จะเรียกข้อมูลกับบุคคลที่ 3 ตามที่กรมเห็นว่านิติบุคคลใดยังนำส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน รวมถึงเรื่องการยื่นแบบเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์/การออกใบกำกับภาษีทางอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น

สุดท้ายคือนโยบายให้เจ้าหน้าที่กรมให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะคดีเกี่ยวข้องทุจริตที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น คดีโกงแวตมูลค่า 4,300 ล้านบาท นอกจากมีการไล่ออกจากข้าราชการไปแล้วปัจจุบันกำลังสอบวินัยและส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างกรณีที่ยังเป็นข่าวอีกครั้งก็เป็นผลจากคดีเก่าเรื่องโกงแวต เหล่านี้เป็นคดีเก่าที่ได้มีการเคลียร์ไปหมดแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560