PTTEP ถกเชฟรอน ฮุบแหล่ง‘เอราวัณ’

10 ก.ค. 2560 | 11:11 น.
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจ่อออกทีโออาร์ ประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ ส.ค.นี้ หลังส่งก.ม.รองให้ครม.ไฟเขียว นักลงทุนหลายรายสนใจเข้าร่วม พร้อมหนุน ปตท.สผ.เข้าประมูล 2 แหล่ง ยันไม่ขัดคุณสมบัติ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูล(ทีโออาร์)แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช รวมทั้งการจัดทำกฎหมายรองทั้ง 5 ฉบับ เช่น เกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่กฎหมายรองเกี่ยวกับระบบรับจ้างผลิต(เอสซี) รวมทั้งร่างทีโออาร์ จะเสนอเข้า ครม. อย่างช้าสุดภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการขายทีโออาร์และเปิดประมูลภายในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน จากนั้นกระบวนการประมูลจะใช้เวลา 6-7 เดือน โดยคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2561 จะได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง หลังจากนั้นผู้ชนะการประมูลจะเริ่มเข้าไปดำเนินการสำรวจแหล่งเอราวัณในปี 2565 และแหล่งบงกชในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จ กรมจะเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาดูข้อมูลแหล่งดังกล่าวก่อน เบื้องต้นพบว่ามีนักลงทุนสนใจหลายรายทั้งรายเก่าและรายใหม่ทั้งจากจีนและตะวันออกกลางแสดงความสนใจร่วมประมูล 2 แหล่ง

“ทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และนักลงทุนรายใหม่ ยังรอความชัดเจนของทีโออาร์ก่อน ขณะเดียวกันปตท.สผ.มีสิทธิ์ร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง ในฐานะเป็นบริษัทของคนไทย”

ส่วนกรณี ปตท.สผ.จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในแหล่งเอราวัณ จากปัจจุบันอยู่ที่ 5%โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับทางเชฟรอน เพื่อร่วมประมูลในแหล่งเอราวัณรอบใหม่นั้น กรมมองว่าเป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ แต่กรณีที่ ปตท.สผ.จะร่วมกับนักลงทุนรายอื่น เพื่อแข่งประมูล 2 ทาง อาทิ ร่วมกับนักลงทุนตะวันออกกลางเพื่อเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณอีกทางหนึ่ง คงเป็นไปไม่ได้

ปัจจุบันแหล่งเอราวัณมีเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินงาน ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 71.25% ,บริษัท มิตซุย ออยล์เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด 23.75% และปตท.สผ. 5%

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณและบงกช รวม 234 แท่น แบ่งเป็นของแหล่งเอราวัณ 179 แท่น และแหล่งบงกช 55 แท่น จะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างทดลองรื้อถอน 4 แท่นผลิตในแหล่งเอราวัณ เพื่อนำมาประเมินผลและจะนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์การรื้อถอนที่ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอน ขณะนี้กรมยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการ 2 รายเดิม ในการวางหลักประกันการรื้อถอน โดยก่อนที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุ อีก 2 ปี ในปี 2565-2566 หรือในช่วงปี 2563 นั้น กรมจะเข้าไปประเมินมูลค่าทรัพย์สินและกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดกล่าวว่าเชฟรอนมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานในแหล่งอเอราวัณ แต่รอดูทีโออาร์ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนสิงหาคมนี้ โดยไม่ว่ารัฐจะออกระบบสัมปทานหรือพีเอสซี ทางเชฟรอนก็มีความพร้อมเข้าร่วมประมูล ปัจจุบันเชฟรอนยังคงกำลังการผลิตในแหล่งเอราวัณ อยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนจะเข้าร่วมประมูลในแหล่งบงกชหรือไม่นั้น ต้องขอความชัดเจนทีโออาร์ก่อน จากนั้นจะตัดสินใจต่อไป

[caption id="attachment_176787" align="aligncenter" width="503"] PTTEPถกเชฟรอน ฮุบแหล่ง‘เอราวัณ’ PTTEPถกเชฟรอน ฮุบแหล่ง‘เอราวัณ’[/caption]

ส่วนกรณี ปตท.สผ.จะซื้อหุ้นเพิ่มนั้น อยู่ระหว่างหารือกันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งปตท.สผ.อาจร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่งนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของปตท.สผ. ซึ่งทางเชฟรอนก็มีความพร้อมร่วมประมูลเช่นกัน โดยบริษัทแม่มีนโยบายชัดเจนว่ายังต้องการลงทุนในประเทศไทยระยะยาวต่อไป

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ.ยังรอความชัดเจนทีโออาร์อย่างเป็นทางการ เบื้องต้น ปตท.สผ.ยืนยันร่วมประมูลแหล่งบงกชอย่างแน่นอน ส่วนแหล่งเอราวัณ อยู่ระหว่างหารือกับทางเชฟรอนอย่างใกล้ชิดว่า จะร่วมดำเนินการกันอย่างไร หรือต่างฝ่ายต่างประมูล แม้ว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้อง การให้ ปตท.สผ.เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่งก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560