TG ป่วน เครื่องโรลส์-รอยซ์พัง

10 ก.ค. 2560 | 09:07 น.
การบินไทยระสํ่า ศูนย์ซ่อมโรลส์-รอยซ์ไม่มีอะไหล่โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ แจ๊กพอตต้องจอดกราวด์ 4 ลำ ส่อลามอีก 37 ลำ ฝ่ายบริหารหัวปั่นแก้ไขเฉพาะหน้า ยุบไฟลต์-สลับเครื่อง “อุษณีย์” ลั่นโรลส์-รอยซ์ต้องรับผิด

กรณีบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) (THAI) ได้เปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เครื่องบินโรลส์- รอยซ์ ภายใต้โปรแกรม Total Care-Rolls Royce (ซื้อเครื่องยนต์พ่วงการซ่อมบำรุง) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการสต๊อกอะไหล่ปีละหมื่นล้านบาท วันนี้กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงกับแผนปฏิบัติการบิน เนื่องจากโรลส์-รอยซ์ ไม่สามารถซ่อมบำรุงได้ตามระยะเวลาที่กำหนดส่งผลให้เครื่องบินหลายลำของการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทยฯ ยอมรับกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น Trent 1000 มีปัญหา Turbine Blade (ตัวใบพัด) เกิดรอยร้าวและแตกในเครื่องยนต์ ที่อาจส่งผลถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน และต้องทำการทยอยสลับจอด เครื่องบินโบอิ้งรุ่นดังกล่าวที่มีอยู่ 8 ลำ ซึ่งเพิ่งรับมอบลำแรกมาเมื่อปี 2557

ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 -8 มีปัญหาไม่สามารถบินได้ 4 ลำ เนื่องจากต้องถอดเครื่องยนต์ส่งไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อม โรลส์-รอยซ์ ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เหตุที่เครื่องยนต์รุ่นนี้มีปัญหาเหมือนกันทั่วโลก จึงส่งผลให้โรลส์-รอยซ์ ไม่สามารถซ่อมบำรุงให้เสร็จทันเวลา และขาดแคลนส่งผลกระทบมาถึงเครื่องบินของการบินไทยด้วย และในเดือนสิงหาคมจะมีเครื่องโบอิ้ง 787 อีก 2 ลำต้องจอดรอการซ่อมบำรุงด้วย

“สิ่งที่ฝ่ายบริหารกังวลมากขณะนี้คือเกรงว่าปัญหาดังกล่าวจะลามไปถึง เครื่องบินรุ่นอื่นอีก 37 ลำที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ อีก 92 เครื่องยนต์ ซึ่งถึงรอบระยะเวลา ต้องส่งเข้าซ่อมบำรุง อาจจะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าและอะไหล่ขาดแคลนตามมา เพราะเวลานี้ยังมีเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ของการบินไทยที่อยู่รอการซ่อมบำรุงที่ศูนย์ซ่อมสิงคโปร์ อีกราว 30-40 เครื่องยนต์ และในเดือนสิงหาคมอาจจะต้องมีการจอดโบอิ้ง 787 อีก 2 ลำเพื่อซ่อมบำรุงด้วย”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัญหาของโบอิ้ง 787 -8 ที่ใช้เครื่องยนต์ Trent 1000 จะเกิดจาก Turbine Blade และมีปัญหากับทุกสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ ซึ่งคาดว่าที่ได้รับผลกระทบราว 150 ลำ จากเครื่องบินที่มีอยู่กว่า 300 ลำ โดยกว่า 50%จะติดตั้งเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ และอีก 50% ติดตั้งเครื่องยนต์ของจีอีและโรลส์-รอยซ์ได้ทยอยทำการแก้ไขตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่เหตุที่มีเครื่องยนต์เป็นปัญหาจำนวนมากทำให้โรลส์-รอยซ์ไม่สามารถซ่อมให้เสร็จได้ทันเวลา และเกิดปัญหาสะสมเพิ่มมากขึ้น

แหล่งข่าวจากฝ่ายช่าง ระบุว่า “แม้ว่าฝ่ายบริหารจะระบุว่า ทุกอย่างจะเข้าสู่ปกติในเดือนกันยายนนี้ แต่ที่ผ่านมา โรลส์-รอยซ์ เลื่อนการส่งมอบเครื่องยนต์มาตลอดและไม่มีวี่แววว่า เครื่อง ยนต์ที่รอการซ่อมนั้นจะส่งมอบได้เมื่อไร ยิ่งล่าช้าออกไปก็ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อแผนปฏิบัติการบิน แม้ว่าขณะนี้จะใช้วีธีการสลับอะไหล่ ที่ใช้ทดแทนกันได้มาใช้ก่อนก็ตาม แต่จะทำได้นานแค่ไหนในเมื่อปัญหาไม่ได้เกิดกับการบินไทยเพียงสายเดียว และยังมีเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทยรุ่นอื่นที่ต้องถึงรอบการซ่อม ปัญหาก็จะเกิดการดีเลย์ตามมา

P1-77 ++วุ่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ การบินไทยได้ตั้งชุดทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยเบื้องต้นได้วางแผนรับมือกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารตกค้าง จึงจำเป็นต้องยุบรวมเที่ยวบิน นำเครื่องบินอื่นเข้ามาบินแทน โบอิ้ง 787 หรือสลับนำเครื่องบิน โบอิ้ง 777 มาบินแทน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสาร แต่ถ้าหากไม่สามารถบินได้ก็จะส่งผู้โดยสารไปใช้บริการสายการบินอื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในเดือนนี้มีเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบ เช่น เที่ยวบินไปญี่ปุ่น 1 เที่ยวบิน เที่ยวบินไปสิงคโปร์ 4 เที่ยวบิน เส้นทางที่บินเข้าเชียงใหม่ ให้สายการบินไทยสมายล์ไปทำการบินแทน

“ขณะเดียวกันก็เร่งเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อประมวลความเสียหายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการ จ่ายชดเชยให้แก่ผู้โดยสารตามกฎหมาย เช่น การเข้าพักโรงแรม, อาหาร จากเที่ยวบินดีเลย์ ส่วนต่างจากการย้ายผู้โดยสารไปใช้บริการสายการบินอื่น ที่การบินไทยต้องจ่ายเพิ่ม 1.5-2 หมื่นบาทต่อเที่ยวบิน รายได้ที่หายไปจากการที่เครื่องบินไม่สามารถบินได้ ฯลฯ เพื่อให้ทางโรลส์-รอยซ์รับผิดชอบต่อไป”

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรลส์-รอยซ์ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเดินกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของโรลส์-รอยซ์ ที่ต้องการผูกขาดตลาดเครื่องยนต์มากเกินไป ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีการขายเครื่องยนต์พร้อมพ่วงการซ่อมบำรุง Total Care Rolls Royce ซึ่งเมื่อซื้อเครื่องยนต์ แล้วจ่ายเพิ่มอีก 200 ดอลลาร์สหรัฐฯตามชั่วโมงการบินที่เขาวางไว้ พอถึงเวลาก็เข้ารอบการซ่อมบำรุงตามที่กำหนดซึ่งตอนขายเครื่องยนต์ดูดี และสายการบินต่าง ๆส่วนใหญ่ชอบเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องมาวุ่นวายเรื่องการซ่อมบำรุงมากนัก แต่ในวันนี้เมื่อเครื่องยนต์มีปัญหายกล็อตผลกระทบจึงลามทั่วโลก

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้การบินไทย ก็มองเห็นโอกาสว่าสเต็ปต่อไป ที่อาจจะดึงโรลส์-รอยซ์ เข้ามาร่วมทุนกับเราในการทำธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เพื่อขยายจำนวนศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งแนวคิดการจัดทำศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ จะเป็นส่วนหนึ่ง ในโครงการ “TG MRO Campus” ซึ่งการบินไทยจะร่วมลงทุนกับแอร์บัส ในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงมีเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินที่เป็นบริษัทแม่เท่านั้น แต่เรายังมองถึงการตั้งบริษัทลูกในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยาน ก็เป็นแนวคิดหนึ่งในบริษัทลูกที่จะเกิดขึ้น

ด้านนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แถลงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นการบินไทยได้เจรจากับทางโรลส์-รอยซ์ อยู่เป็นระยะๆ เพื่อทยอยส่งอะไหล่เข้ามาเปลี่ยน ตอนนี้ยังมาไม่ครบ เพื่อทยอยให้สามารถหมุนเวียนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ให้ใช้ทำการบินได้ ตามแผนคาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งยังวางแผนการรับมือไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ และจะมีการเจรจาให้โรลส์-รอยซ์ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ที่ซ่อมนั้นอยู่ในระยะประกันอยู่แล้ว

เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ของการบินไทยจัดว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องบินนิวเจเนอร์เรชัน ซึ่งการบินได้เช่าดำเนินการในช่วงที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ซึ่งเป็นการเช่าจาก บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ลีส ไฟแนนซ์ คอร์เปอเรชั่นฯ สัญญา 12 ปี ซึ่งการบินไทยรับมอบเครื่องบินรุ่นนี้ลำแรกมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560