รายย่อยส่งข้อมูลก.ล.ต.เพิ่มฟันบอร์ด IFEC

07 ก.ค. 2560 | 10:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายย่อยร่อนหนังสือพร้อมข้อมูลเพิ่มชง ก.ล.ต. เร่งจัดการปัญหาไอเฟค ชี้พาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ ส่งผลให้การเลือกตั้ง 2 พ.ค. “โมฆะ”  ลั่น “หมอวิชัย” ไม่ใช่เจ้าของไอเฟค ถึงเวลาคืนอำนาจผู้ถือหุ้น หลังแอบขาย 2 โรงไฟฟ้า-ทำธุรกรรม สร้างความเสียหายร้ายแรงให้บริษัท

นายประจักษ์  รัศมี ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกับทำสำเนาถึงนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้ตรวจสอบบริหารของนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และกรรมการชุดปัจจุบันของไอเฟคที่มีพฤติกรรม เจตนาบริหารงานผิดพลาด บริหารงานด้วยความประมาทเลินเล่อ อนุมัติการเข้าทำรายการโดยขาดอำนาจอันชอบธรรม ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อไอเฟค และผู้ถือหุ้นของไอเฟคเป็นอย่างมาก

[caption id="attachment_176371" align="aligncenter" width="503"] นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์[/caption]

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 กรรมการไอเฟคชุดปัจจุบันได้ขายหุ้นและหนี้ใน บริษัท วี.โอ.เน็ต ไบโอ ดีเซล เอเชีย จากัด (VON) ให้กับ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE รวมมูลค่า 126.80 ล้านบาท ทั้งที่ไอเฟคยังไม่สามารถจดทะเบียนกรรมการใหม่ตามที่ได้รับเลือกจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ดังนั้นกรรมการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ครบตามองค์ประชุม เพื่ออนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวได้

ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไอเฟคได้นำเอาหุ้นจำนวน 51% ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จากัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัทโรงแรมดาราเทวี มูลค่ารวม 4,000–5,000 ล้านบาท โดยชี้แจงว่าไปค้ำประกันหนี้ตั๋วแลกเงินของบลจ. แลนด์แอนเฮ้าส์ (LH) วงเงิน100 ล้านบาท ซึ่งขัดข้อเท็จจริงตามสัญญาจำนำที่ไอเฟคได้ค้ำประกันต่อ LH Fund ซึ่งไม่ได้ระบุวงเงินของการค้าประกันและยังเป็นการประกันหนี้ของบริษัททั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งกระทำการไม่ได้คำนึงถึงผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นของบริษัทฯ และในขณะนั้นไอเฟคมีกรรมการเพียง 2 ท่าน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการอนุมัติได้

นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2559 ไอเฟคยังได้รับเงินมัดจำจากบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เพื่อเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TRUE-P จำนวน 50 ล้านบาท แต่ผู้บริหารกลับทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะสั้นอัตราดอกเบี้ย 6.25% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ผู้ขายกลับต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อที่วางเงินมัดจำเอาไว้ และครบกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

อีกทั้ง ผู้ถือหุ้นรายย่อยยังเรียกร้องให้ไอเฟคเปิดเผยข้อมูลผู้บริหารชุดปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่ได้มีการส่งงบการเงินงวดประจำปี 2559 และงวดไตรมาส 1/2560 ขณะที่การบริหารงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ขาดการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารและผู้บริหาร ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเข้าทำรายการต่างๆที่ขาดความระมัดระวัง

ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟค กล่าวอีกว่า ก.ล.ต.ควรเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟคอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยให้ผู้บริหารใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หรือทำผิดข้อบังคับ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา จะทำให้ปัญหายิ่งลุกลามบานปลายมากกว่านี้ สุดท้ายคนที่ได้รับความเสียหายที่สุดคือผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีกว่า 27,000 คน และเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุน เพราะนายวิชัย ไม่ใช่เจ้าของไอเฟค แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยคือเจ้าของตัวจริง