พัฒนาบุคคลากรด้วยกิจกรรม สร้างภูมิต้านทานสังคมด้วยความดี

08 ก.ค. 2560 | 23:56 น.
“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถนำโครงการ CSR มาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาบุคคลากรได้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมิได้เกิดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งแต่จะมีการพัฒนาร่วมกันแบบองค์รวม ร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้คนสร้างสิ่งที่ดีในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขาเอง”

จุดเริ่มต้นจากการเข้าทำงานเมื่อ 16 ปีก่อนของ คุณปัญญา กิจเจริญการกุล ในฐานะผู้จัดการแผนกเภสัชกรรม บริษัท เมอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งใน 66 สาขาของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บริษัท เมอร์ค เคจีเอเอ จำกัด การได้รับข้อมูลและถ่ายทอดแนวคิดด้านการให้ความสำคัญกับกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับการดูแลกลุ่มลูกค้าและการทำงานอย่างมืออาชีพจากผู้บริหารชาวเยอรมัน นำไปสู่รูปแบบการทำงานที่สนุกกับการเรียนรู้ตลอดเวลา จนวันนี้การได้ขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด คนไทยคนแรกที่ได้รับความเชื่อมั่นจากสำนักงานใหญ่เมอร์ค คือการมุ่งสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพภายใต้การบริหารอย่างมีคุณธรรม เพื่อความสุขร่วมกันของทุกคนในสังคม

“การบริหารไม่อาจหยุดอยู่เพียงแค่การใช้หลักธรรมาภิบาลมากำกับองค์กร เราให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจร่วมกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

การเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคคลากรผ่านการใช้ “กิจกรรมเพื่อสังคม” เป็นเครื่องนำทาง พร้อมกับการกระตุ้นบุคลากรทุกคนในองค์กรซึ่งมีมากกว่า 250 คน เปลี่ยนจากการเป็นเพียง “จิตอาสา” คือต้องมีความรู้สึกที่อยากจะช่วยถึงลงมือทำ ต้องมีเงินมาพอถึงจะช่วยคนจน หรือต้องมีเวลาก่อนจึงจะลงมือทำ ให้เป็น “หน้าที่” ที่ทุกคนต้องทำ เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ทุกๆ ปี คุณปัญญาจะรณรงค์ให้บุคคลากรทุกคนช่วยกันคิดโครงการ CSR ที่อยากจะทำ ทั้งโครงการที่ช่วยเหลือสังคมในภาพรวมหรือโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือสังคมของตนเอง จากหลายร้อยแนวคิดหลายสิบความฝันสู่การสกัดและประมวลผลผลิตเป็นโครงการต่างๆ มากกว่า 20 โครงการ โดยมีผู้คิดโครงการเป็น “Project Leader” ที่ต้องสานต่อโครงการจนสำเร็จด้วยความร่วมมือของคนในองค์กรทุกคน

[caption id="attachment_176333" align="aligncenter" width="503"] ปัญญา กิจเจริญการกุล : พัฒนาบุคคลากรด้วยกิจกรรม สร้างภูมิต้านทานสังคมด้วยความดี ปัญญา กิจเจริญการกุล : พัฒนาบุคคลากรด้วยกิจกรรม สร้างภูมิต้านทานสังคมด้วยความดี[/caption]

“คนไทยเรามีข้อดีคือ เรามีความรู้สึกช่วยเหลือกันและกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือต้องหาโอกาสให้เขามีโอกาสทำ ได้ลองทำ การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิดโครงการของตนเองอย่างอิสสระ พร้อมๆ กับการสนับสนุนในคนในองค์กรร่วมกันคิด ร่วมกันทำ คือส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับบุคลลากรด้วยการลงมือปฏิบัติจริง จนเราสามารถพัฒนาเป็นแพลทฟอร์มที่ชัดเจนขึ้นในบริษัทด้วยกระบวนการสร้างโค้ช และการจัดหาทีมให้กับ Project Leader และคนให้สามารถทำให้กิจกรรมนั้นๆ สัมฤทธิ์ผล พร้อมๆ กับการทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งที่เราเห็นคือพนักงานของเรามีความกระตือรือร้นตลอดเวลา การทำแบบนี้ทำให้พนักงานได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ที่นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ เกิดเป็นสายสัมพันธ์กับสังคมที่แนบแน่นและทรงพลังมากยิ่งขึ้น”

การเล็งเห็นช่องว่างของการช่วยเหลือสังคมที่ปัญหาและความยากลำบากมิได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบของประเทศ นอกเหนือการภารกิจขององค์กรที่ต้องคัดสรรและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยแล้ว ภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่าภารกิจหลักคือการเข้าไปเติมเต็มช่องว่างการช่วยเหลือและการพัฒนาในสังคมไทยอย่างถึงแก่นโดยแท้จริง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจกรรมปลูกป่าที่เราต่างคุ้นเคยดี และคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศต่างเคยร่วมกิจกรรมนี้กันแล้วทั้งสิ้น แต่คุณปัญญา เลือกคิดในมุมที่แตกต่าง และเลือกทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ต่อผืนป่าในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ก่อนหน้านั้นเราก็เป็นเหมือนองค์กรทั่วไปที่นำต้นกล้าเข้าไปปลูกในพื้นที่ซึ่งมีการจัดสรรไว้ แต่ต่อมาเมื่อมีการติดตามอย่างใกล้ชิดก็พบว่าต้นกล้าที่เราปลูกไปนั้นมากกว่า 80% ต้องแห้งตายจากภาวะขาดน้ำหรือต้นกล้าไม่แข็งแรง ตอนนั้นสิ่งที่เราคิดถึงคือพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า

“..ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

MP29-3277-b จากนั้นเป็นต้นมาโครงการปลูกป่าของ เมอร์ค คือการเริ่มสร้างต้นกล้าที่แข็งแรงผ่านการเพาะเมล็ดด้วยตนเอง การดูแลต้นกล้าจนพร้อมเพื่อ “ปลูกป่าในป่า” เติมเต็มป่าธรรมชาติที่ขาดหายในให้สมบูรณ์ เพราะหากปล่อยให้พื้นที่ว่างในผืนป่าให้แห้งแล้งแล้วผืนป่าโดยรอบก็จะเสียความอุดมสมบูรณ์และได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของผืนป่าไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้นการเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตของต้นกล้า เมอร์ค จึงเป็นเพียงไม่กี่หน่วยงานในประเทศไทยที่ปลูกป่าในหน้าฝน เพื่อให้ธรรมชาติร่วมดูแลต้นไม้ต้นเล็กๆ ให้สามารถเติบใหญ่ได้อย่างสง่างาม จากสองปีที่ผ่านมากับการปลูกป่าไปแล้ว 20,000 ต้น คุณปัญญาตั้งเป้าปลูกป่าเพิ่มในปีนี้ 15,000 ต้น เพื่อให้ครบ 35,000 ต้น เฉลิมฉลองการก้าวสู่ปีที่ 350 ของ “เมอร์ค เคจีเอเอ”

“เราต่างจากองค์กรอื่นๆ ตรงที่เราไม่มีหน่วยงานซึ่งจัดตั้งมาเพื่อรับผิดชอบผลิตโครงการรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง แล้วให้คนอื่นซึ่งรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่มาร่วมกันทำ ทุกวันนี้ทีมผู้บริหารทุกคนมีความสุขมากที่เห็นทุกคนในองค์กรเรียนรู้การทำงานเป็นทีมมากขึ้น ที่สำคัญคือการรู้จักหาทุนมาทำโครงการด้วยตนเอง ทุกโครงการเรามองศักยภาพของตัวเราเอง หากส่วนใดเราไม่ถนัดเราจะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อผลักดันให้โครงการนั้นๆ เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ”

การผนึกความร่วมมือในโครงการระยะยาวร่วมกับองค์กรต่างๆ ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสังคมให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนเท่านั้น หนึ่งในโครงการที่เมอร์คได้ร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทย ได้ผลิดอกออกผลเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชุมอย่างข้าวซ้อมมือปกาเกอะญอ ที่สร้างความภาคภูมิใจในผืนแผ่นดินอยู่ให้กับชาวเขากลุ่มปกาเกาะญอ พร้อมกับการสร้างรายได้ที่มั่นคงอีกด้วย

“การทำให้การตอบแทนสังคมเป็น“หน้าที่” ของบุคลากรทุกคนคือสิ่งที่ไม่เพียงคิดเพื่อปัจจุบัน แต่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาวถ้าเราสามารถปลูกวัฒนธรรมนี้ให้เติบโตในองค์กรนี้ได้ ไม่ว่าผู้บริหารหรือพนักงานจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างไร สิ่งที่ยังคงอยู่คือหน้าที่ในการทำความดีเพื่อสังคมถ้าทุกคนมีมุมมองเรื่องสังคมที่เหมือนกันแล้ว สังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น ตอนนี้เมื่อเรามีเวลาทำ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด”

นี่คือแนวคิดการบริหารของผู้นำองค์กรอย่าง คุณปัญญา กิจเจริญการกุล ผู้เปลี่ยนตัวเองมาวิ่งก่อนทำงานในทุกๆ เช้า หลังจากการเข้าร่วมหนึ่งในกิจกรรมของเมอร์ค คือ “Merck Charity Run : GIVE ME FIVE วิ่งเพื่อเต่า” เมื่อปีที่ผ่านมา ปีนี้คุณปัญญาพร้อมแล้วกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนนี้ กับกิจกรรมวิ่งที่ทุกคนจะได้ให้สุขภาพตนเองและให้สังคมไปพร้อมๆ กัน “WE RUN WE FUND วิ่งเติมฝัน” เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปจัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์กีฬาให้แก่เด็กใน 26 โรงเรียน ที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสมัครได้แล้ววันนี้ที่ race.thai.run/events/we-run-we-fund แล้วไปเดิน-วิ่งเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วยกันในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เวลา 5.30-8.00 น.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560