10 ยุทธศาสตร์ แผนฯ 12 จุดเปลี่ยน อนาคตไทย ?

12 ก.ค. 2560 | 09:17 น.
ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ถึงความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5 % ต่อปี คนไทยมีรายได้ต่อหัวไม่น้อยกว่า 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมไม่ใช่แรงงาน ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อเป็น โครงข่ายตั้งแต่เมืองใหญ่ไปถึงภูธร ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง เทียบชั้นกลุ่มประเทศโออีซีดี กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทย หัวเมืองหลักตามภูมิภาคมีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจไม่แพ้เมืองหลวง อันดับคอรัปชั่นในอาเซียนจะเป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น ป่าจะกลับมาเขียวขจี คนไทยใช้บัตรประชาชนใบเดียวทำธุรกรรมได้ทุกเรื่อง ....

[caption id="attachment_176294" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[/caption]

ภาพที่กล่าวถึงข้างต้น คือประเทศไทยในฝัน ของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ข้างหน้าหรือปี 2579 เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และรัฐบาล โดยยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวเริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) โดยแผนฯ 12 ทำหน้าที่เป็นแผนนำร่อง เพื่อบุกเบิกไป สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้าหรือเมื่อสิ้นสุดแผนฯฉบับที่ 15 ในปี 2597 ความฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นจริงหรือไม่ ? ช่วง 4 ปีจากนี้ไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

++จุดเปลี่ยน
ในการประชุมประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564) หรือแผนฯฉบับที่ 12 ถูกนำเสนอและตอกย้ำอีกครั้งว่า เป็นแผนระยะแรกของ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯปาฐกถานที่ประชุมและระบุถึง 3 เรื่อง ที่เป็นหัวใจสำคัญของ แผนฯฉบับที่ 12 ว่าประกอบด้วย 1.สร้างคนพันธุ์ใหม่ การพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง ในระยะยาวต้องคำนึงถึงการใช้คนเป็นศูนย์กลาง 2.ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขับเคลื่อนทุกมิติ และ 3 .การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและปราบปรามการคอรัปชั่น

[caption id="attachment_176295" align="aligncenter" width="503"] ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาฯสภาพัฒน์ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาฯสภาพัฒน์[/caption]

ขณะที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาฯสภาพัฒน์ ระบุว่า แผนฯฉบับที่ 12 เป็นจุดเปลี่ยนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทำแผนฯ 8 ที่เปลี่ยนวิธีคิดในการทำแผน จากกำหนดจากข้างบนลงมา เป็นเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และแผนฯฉบับที่ 12 มีแผนปฏิบัติการต่างจากแผนฯฉบับที่ผ่านๆมาที่เพียงให้กรอบแนวทางเท่านั้น ทั้งนี้แผนฯฉบับที่ 12 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ชุดคือ ชุดแรก 6 ยุทธศาสตร์แรกสอดรับกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี” ชุดที่สอง 6 ยุทธศาสตร์ของแผนฯฉบับที่ 12 และ ชุดที่สาม 4 ยุทธศาสตร์เสริม โดยเป้าหมายที่กำหนดจะไปให้ถึงนั้นนับว่าท้าทายกว่าแผนฯทุกฉบับที่ผ่านมา

++ โจทย์ใหญ่
เช่น การกำหนดเป้าหมายเพิ่มรายได้คนไทยต่อหัวต่อคนอีก 25 % จากแผนฯฉบับที่ 11 ที่รายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 6.400 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว ต่อคนต่อปี (ราว 224,000 บาท) หรือ เป้าหมายเพิ่มอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 5 % เพื่อเป็นฐานนำไปสู่การก้าวหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และขึ้นสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต การจะก้าวไปถึงจุดนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเช่นที่ เลขาฯสภาพัฒน์ฯกล่าวถึงเกษตรแปลงใหญ่ หรือ เอสเคิร์ฟ ในอุตสาหกรรม อาจไม่มีพลังมากพอหากต้องพลิกโฉมระดับ”ปฏิวัติอุตสาหกรรม”เลยทีเดียว หรือ การปฏิรูประบบราชการด้วยการเปลี่ยนไปสู่ยุค รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์( e government) เพื่อลดอุปสรรคจากระบบราชการมีโจทย์ใหญ่รออยู่ ทั้งเรื่อง การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยราชการ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ และสุดท้ายคือกฎหมายที่จะเปิดทางให้ความก้าวหน้าของไอทีได้แสดงประสิทธิภาพเต็มที่

mp25-3277-a ++บทเรียนจากอดีต
นอกจากนี้หากย้อนกลับไป ดูแผนพัฒนาฯทั้ง 11 ฉบับที่ผ่านมามีหลายเรื่อง ที่ยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมาย ยกตัวอย่าง การพัฒนาชนบท ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แผนฯฉบับที่ 2 และกำหนดเป็นแผนต่อเนื่องในแผนฯฉบับต่อๆมา เช่น แผนฯฉบับที่ 5 (2525-2529) ขยายขอบเขตการพัฒนาชนบทครอบคลุมทั่วประเทศ แผนฯฉบับที่ 7 (2535-2539) เน้นการกระจายรายได้ และการพัฒนาไปสู่ภูมิภาค เป็นต้น ผ่านมากว่า 50 ปีแล้วนับแต่ปัญหาความยากจนถึงกำหนดไว้ในแผนพัฒนา ชนบทและความยากจน ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ถูกกำหนดไว้ในแผนฯฉบับปัจจุบันว่า ต้องแก้ไข เช่นกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้ลดลง

ดร.ปรเมธี ยอมรับว่าแผนฯฉบับที่ 11 ที่ผ่านมามีเป้าหมายการพัฒนา หลายด้าน ที่ยังไม่บรรลุเป้า เช่นเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้แต่เมื่อสิ้นสุดแผนฯในปี 2559 พื้นที่ป่าไม้ลดจาก 33 % ของพื้นที่รวมเหลือ 31 % เท่านั้นเนื่องจากมีการ ”บุกรุกเยอะ” หรือ เป้าหมายเพิ่มงบฯด้านวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชนเป็น 1.5 % ของจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) แต่ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น

แม้แผนฯฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนระยะแรกของ “ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี”(2559-2579) มีกฎหมาย 2 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมาคือ ร่าง พระราชบัญญัติ(พรบ.)การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ..... และ ร่างพรบ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ...... เป็นเกราะคุ้มกันแต่ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ใช่หลักประกันว่า แผนฯฉบับที่ 12 และ แผนยุทธ์ศาสตร์ชาติจะบรรลุเป้าที่ตั้งไว้

กุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนฯฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาว่า “… ทุกคนต้องช่วยกันทำแผนฯ 12 ซึ่งเป็นฐานราก ให้ไปสู่ความเข้มแข็ง และแกร่ง แก้ไขจุดอ่อนของประเทศที่มีหลายอย่างรวมทั้งพัฒนาจุดแข็งต่อไป” เช่นเดียวกับ ดร.ปรเมธีเลขาฯสภาพัฒน์ที่ยอมรับว่าแผนฯฉบับที่ 12 ความท้าทายมีอยู่มาก แต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย“เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกัน” แน่นอนการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกัน หรือมาร่วมมือกัน เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์เปลี่ยนอนาคตประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คือโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไร บรรยากาศเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์การเมืองที่การปรองดองยังเป็นโจทย์สำคัญ

[caption id="attachment_176297" align="aligncenter" width="503"] สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง[/caption]

*โต 5 %รัฐต้องกระตุ้นแรง
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยจะเติบโตระดับ 5 %ได้หรือไม่ ผมมองว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความต้องการของโลก ขณะที่สินค้าที่เป็นที่ต้องการก็ใช้แรงงานสูง ซึ่งไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันในอาเซี่ยนด้วยกัน รวมไปถึงการที่ไทยไม่ได้อนิสงค์ด้านภาษี จากการรวมกลุ่มประเทศทั้งในยุโรป อเมริกาที่คิดภาษีนำเข้า 0% ทำให้ไทยเสียเปรียบการค้ามาก

ส่วนความหวังจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่อาทิ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี นักวิชาการรายนี้มองว่าเพิ่งเริ่มต้น ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล

“ อย่างปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นใจ จีดีพีโลกคาดจะเติบโตถึง 3.5 % แต่ไทยเติบโตอย่างมากก็เพียง 3.5-.3.6 % การจะให้เติบโตระดับ 5 % ไทยต้องปรับโครงสร้างการแข่งขันซึ่งต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปี ไม่ได้เห็นผลช่วง 2-3 ปี แต่หากจะให้เห็นผลเร็วเหมือนในอดีต เช่นยุคนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีคลัง ( ปี 2555 ) เศรษฐกิจโตถึง 7.3%หรือยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เศรษฐกิจโต 7.8 % ( ปี 2553 ) รัฐบาลคงไม่พ้นต้องออกมาตรการกระตุ้นแรง เช่นที่เคยทำไม่ว่าจะเป็นมามาตรการบ้านหลังแรก รถคันแรก ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่านำปัญหามาให้ในอนาคต”

[caption id="attachment_176296" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

*”ภาคการผลิต-อีอีซี”ต้องเกิด
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าอยู่ระดับต่ำเพียง 3 % เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการก่อสร้าง-โครงการของภาครัฐเป็นหลัก 20 %ส่วนอีก 80 %ที่เป็นการลงทุนในด้านเครื่องจักรที่เกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ( Total Factor Productivity ) ที่เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนยังมีน้อยมาก ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 5 %ได้ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพสายพานการผลิต และปรับปรุงด้านซัพพลายเซน

อย่างไรก็ดีหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงการอีอีซีตามระยะเวลาที่กำหนด ก็เชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 5 % เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในยุคที่มีการลงทุนอีสเทร์นซีบอร์ด เศรษฐกิจไทยก็โตในระดับ 5 -7% ได้ สำคัญว่าการลงทุนรัฐจะต่อเนื่องแค่ไหนและการเร่งผลักดันพรบ.อีอีซี โดยใช้ม. 44 ของคสช..

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560