ผ่าโครงสร้าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ จ่อเก็บภาษีเฟซบุ๊ก-ยูทูบ-อเมซอน

09 ก.ค. 2560 | 00:35 น.
ใกล้งวดเข้ามาทุกทีกับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(e-Business) เนื่องจากในขณะนี้ กรมสรรพากร ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้เปิดให้หน่วยงานทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ..เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560

** เปิดปมปัญหา
การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่...) พ.ศ... ในครั้งนี้ ในรายละเอียดของร่างกฎหมายได้เขียนระบุว่า ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีถิ่นที่ตั้งในต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในอีกประเทศได้อย่างสะดวกโดยผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การซื้อสินค้าและรับบริการจากผู้ประกอบการต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี ด้วยข้อกฎหมายปัจจุบันการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศดังกล่าวทำได้อย่างจำกัด อันส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในภาระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

** ยกเว้นอากรไม่เกิน 1,500 บ.
นอกจากนี้แล้วใน ประมวลรัษฎากรกำหนดให้สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรกำหนดให้ ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ทำให้สินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากต่างประเทศทางไปรษณีย์นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้ว่าจะขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทก็ตาม

[caption id="attachment_176223" align="aligncenter" width="303"] ผ่าโครงสร้าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ จ่อเก็บภาษีเฟซบุ๊ก-ยูทูบ-อเมซอน ผ่าโครงสร้าง พ.ร.บ.ภาษีออนไลน์ จ่อเก็บภาษีเฟซบุ๊ก-ยูทูบ-อเมซอน[/caption]

** แจงตรากฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร ได้ชี้แจงความจำเป็นที่ต้องตรากฏหมาย เหตุผลก็เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อในประเทศไทยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสม ทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมกับรูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน

**จ่อเข้าครม.
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผยว่า หลังเปิดฟังความคิดเห็นสาธารณะ จะสรุปรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ล่าช้าไปก่อนกำหนดกรมสรรพากร ขณะที่การจัดเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ เช่น e-Payment และ e-Wallet ก็เข้าข่ายต้องชำระภาษี โดยกฎหมายจะให้อำนาจสถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย 5% แทนกรมสรรพากร

** กสทช.จัดระเบียบOTT
ขณะที่ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้ออกมาตรการให้บรรดาผู้ประกอบการ OTT เข้ามาจดทะเบียนในระบบภายในวันที่ 22 กรกฏาคมนี้ ขณะนี้ทั้ง ยูทูบ และ เฟซบุ๊ก จนถึงวันนี้ยังไม่ได้มีการประสานเพื่อที่จะลงทะเบียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามหากร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่… ) พ.ศ… เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็ก-ทรอนิกส์ (e-Business) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเฟซบุ๊ก-ยูทูบ-กูเกิล รวมไปถึงอเมซอนดอทคอม ต้องเสียภาษี 15%เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซในไทย

MP22-3277-B +++อี-คอมเมิร์ซไทยหนุน
นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีออนไลน์ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้ลงโฆษณาผ่านดิจิทัลมีเดีย ใน เฟสบุ๊ก-กูเกิล และ ยูทูบ ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ขณะที่อี-คอมเมริซ์ไทย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาที่ลง 1 หมื่นบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คือ 10,700 บาท และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคลลธรรมดาอีกด้วย การจัดเก็บภาษีของรัฐเป็นการสร้างสมรภูมิทางธุรกิจให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน

นายทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/เฮดโค้ช ขายดีดอทคอม กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลฯจะเก็บภาษีที่ลงโฆษณาออนไลน์ในเฟซบุ๊ก และ กูเกิล เพราะจะได้สร้างมาตราฐานเดียวกันทั้งระบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560