ถอดรหัสความสำเร็จ ดูงานยานยนต์ไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น (ตอนจบ)

09 ก.ค. 2560 | 00:31 น.
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ปัจจุบันนอกจากจะมีประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์รูปแบบต่างๆแก่ผู้ลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แล้ว ยังมีโครงการความพยายามของภาครัฐในรูปแบบอื่นๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการวางรากฐานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคตอีกด้วย

[caption id="attachment_176164" align="aligncenter" width="503"] คณะดูงานยานยนต์ไฟฟ้าของกระทรวงการต่างประเทศและสวทช. ที่สำนักงานใหญ่บริษัท นิสสันฯ ผู้ผลิตรถอีวียอดนิยม Leaf ที่โด่งดังไปทั่วโลก คณะดูงานยานยนต์ไฟฟ้าของกระทรวงการต่างประเทศและสวทช. ที่สำนักงานใหญ่บริษัท นิสสันฯ ผู้ผลิตรถอีวียอดนิยม Leaf ที่โด่งดังไปทั่วโลก[/caption]

++ ย้อนมองพัฒนาการของไทย
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่โครงการความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งดำเนินมาตั้งปต่ปี 2533 และได้เข้าสู่โครงการระยะที่สองในปีนี้ ( 2560-2563) เป้าหมายเพื่อการออกแบบชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ในอนาคตผู้ประกอบการไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ได้เองภายในประเทศ และเพื่อแสวงหาองค์ความรู้และรูปแบบที่เหมาะสมในการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ในท้องตลาด ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ปราศจากการใช้เครื่องยนต์และสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยแบตเตอรี่ 100% เรียกว่า “โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project)”

นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ นักวิจัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยต้นแบบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หน่วยวิจัยนวัตกรรมและวิศวกรรมจากสวทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับบุคคลทั่วไป การจะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสักคัน อาจเริ่มต้นที่การนำรถยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ในท้องตลาดหรือรถมือสอง มาดัดแปลงเป็นรถอีวี ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ออกแบบและดัดแปลงรถฮอนด้าซิตี้ปี 1996 มือสอง เครื่องเบนซิน เกียร์ธรรมดา (ราคา1.5 แสนบาท) กลายเป็นรถอีวีในเวลา 9 เดือน ใช้เงินรวมค่ารถ-ค่าดัดแปลงราวๆ 4 แสนบาท ชาร์จไฟบ้านและใช้มาแล้วขึ้นปีที่ 5 โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ระยะวิ่งหลังชาร์จเต็มไฟอยู่ที่ประมาณ 70 กิโลเมตร “จากประสบการณ์ตรง ทำให้เรามั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์โครงการวิจัยและพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือดัดแปลงที่ร่วมจับมือกับกฟผ. เรามุ่งรถดัดแปลงก่อนเพราะทุกวันนี้มีรถยนต์สันดาปภายในในท้องตลาดจำนวนมากมายอยู่แล้ว หากส่วนหนึ่งหันมาดัดแปลงเป็นรถอีวี ก็จะช่วยลดจำนวนรถที่ปล่อยไอเสียบนท้องถนนลงไปได้ และช่วยประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เป้าหมายของโครงการยังต้องการนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาจัดทำเป็น Blueprint หรือแบบพิมพ์เขียวสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ โครงการนี้ ใช้งบประมาณในการวิจัยทั้งสิ้น ประมาณ 60 ล้านบาท โดยกฟผ.สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยประมาณ 25 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการสนับสนุนของสวทช. ในส่วนของการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญจำนวน 7 รายการ ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่นั้น ทางโครงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามีส่วนร่วมนำผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมในการวิจัยด้วย

[caption id="attachment_176163" align="aligncenter" width="343"] ฮิเดโอะ ซุรุมากิ ฮิเดโอะ ซุรุมากิ[/caption]

++ต่างชาติมั่นใจไทยเป็น“ฮับ”
นายฮิเดโอะ ซุรุมากิ ประธานบริหารบริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด หรือรู้จักกันในชื่อ “ฟอมม์” (FOMM) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย โดยบริษัทจะใช้โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เป็นฐานการผลิต การติดตั้งเครื่องจักรคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ และโรงงานจะผลิตรถต้นแบบออกมาในเดือนมกราคม 2561 เพื่อทดสอบและปรับแต่งก่อนจะผลิตจริงออกมาในเดือนมิถุนายนปีหน้า “ไทยเป็นฐานผลิตที่แข็งแกร่ง มีซัพพลายเชนที่ครบวงจร เราจะผลิตมุ่งตลาดในประเทศเป็นหลัก จากนั้น2-3 ปีจะเริ่มส่งออกตลาดอาเซียนและยุโรป” ผู้บริหารของฟอมม์กล่าวว่า ราคาเปิดตัวยังไม่แน่นอน อาจจะเริ่มที่ 3.9-5.5 แสนบาท ทั้งนี้ ล็อตแรกจะผลิตออกมา 4,000 คัน ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศถึง 70% “เรามีพันธมิตรเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย คือ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริษัท ทรัยเน็กซ์ แอสเสทส์ เป็นหุ้นส่วนหลัก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบอยู่แล้ว”

นายซูรุมากิฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า รถยนต์อีวีอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้บริโภคชาวไทยยังไม่คุ้นชิน ดังนั้นนอกจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ผลิตแล้ว หากมีมาตรการอุดหนุนทางการเงิน (subsidy) ในส่วนของผู้ซื้อเพื่อสร้างแรงจูงในการซื้อแบบเดียวกับมาตรการ subsidy ในประเทศญี่ปุ่นก็จะเป็นอีกตัวเร่งให้อุตสาหกรรมรถอีวีไทยเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560