ศักยภาพรัฐทมิฬนาฑู ประตูสู่อาเซียน

10 ก.ค. 2560 | 00:04 น.
TP7-3277-B รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) เป็นหนี่งในรัฐที่สำคัญของอินเดียที่ถูกวางให้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย เห็นได้จากการให้ทมิฬนาฑูไปเกี่ยวข้องกับโครงการสำคัญๆ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย (Mekong India Economic Corridor: MIEC) ซึ่งเชื่อมโยงภูมิภาคระหว่าง อินเดีย-เมียนม่าร์-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เข้าไว้ด้วยกัน โดยเริ่มจากเมืองเชนไน (Chennai) รัฐทิมิฬนาฑู ผ่านไปยังโครงการท่าเรือทวาย ผ่าน ด่านบ้านทิกิ เมืองทวาย-บ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และยังสามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor) ที่แยกออกเป็น 2 เส้นทาง Central Sub-Corridor 1,005 กม. และเส้น Southern Coastal Sub-Corridor ระยะทาง 970 กม. ที่สามารถเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ สู่เวียดนาม

นอกจากนี้ยังมี “โครงการสุวรรณจตุรพักตร์” หรือ "Swarna Chathuspatha" (Golden Quadrilateral) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการคมนาคมและการขนส่งใน 4 เมืองเศรษฐกิจหลักของอินเดีย คือ เดลี มุมไบ เจนไน และกัลกัตตา รัฐทมิฬนาฑูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอินเดีย โดยมี GDP ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการร้อยละ 60 ตามด้วยภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 30 เมืองเชนไนซึ่งเป็นเมืองหลวงถูกวางให้เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักทางใต้ของอินเดีย เพราะเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ได้แก่ รถยนต์สัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 (บริษัท DELL, Samsung, Flextronics, Foxconn เป็นต้น) อุตสาหกรรมเสื้อผ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ของทั้งประเทศ เครื่องหนังมีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ เครื่องจักรสัดส่วน 15 และเทคโนโลยี่สารสนเทศ เป็นต้น

รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางเชิงพาณิชย์ของอินเดียใต้ เชนไนยังได้ถูกขนานนามว่าเป็น “Detroit of India” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดียเพราะมีโรงงานการผลิตรถยนต์ได้แก่ บริษัท Hyundai, Renault, Robert Bosch, Nissan Motors, Ashok Leyland, Daimler AG, Caterpillar Inc., Komatsu Limited, Ford, BMW และ Mitsubishi เป็นต้น

[caption id="attachment_176051" align="aligncenter" width="503"] ศักยภาพรัฐทมิฬนาฑู ประตูสู่อาเซียน ศักยภาพรัฐทมิฬนาฑู ประตูสู่อาเซียน[/caption]

รัฐทมิฬนาฑูแบ่งระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Product Cluster) ระดับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Estates) ระดับพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) และระดับการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Integrated Large Area Development)

นอกจากนี้ยังมีโดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นชื่อว่าระเบียงอุตสาหกรรม “Chennai Bengaluru Industrial Corridor” หรือ “CBIC” ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยง 2 รัฐฯ และ 3 เมืองสำคัญของอินเดียใต้คือเมืองเชนไนของรัฐทมิฬนาฑู เมืองบังคาลอร์ (Bengalore) หรือเมืองบังคาลูรู และอำเภอชิดทราดูก้า (Chitradurga) รัฐคาร์นาทาคะ (Karnataka) ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรมคือ เกษตรแปรรูป รถยนต์และชิ้นส่วน ยา เคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรขนาดใหญ่ IT เสื้อผ้า พลังงานทางเลือก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีระเบียงเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ได้แก่ ระเบียงอุตสาหกรรม Chennai Tiruchirappalli Industrial Corridor (CTIC) ระเบียงอุตสาหกรรม Coimbotore Salem Industrial Corridor (CSIC) ระเบียงเศรษฐกิจ Coimbatore Madurai Industrial Corridor (CMIC) ระเบียงอุตสาหกรรม Madurao Thoothukudi Industrial Corridor (MTIC) และระเบียงอุตสาหกรรม Chennai Thoothukudi Industrial Corridor (CTIIC)

อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเนเรนทระ มูดี (Narendra Modi) โดยผ่านนโยบาย “Make in India” ที่ต้องการให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยในปี 2563 คาดว่าผลิต 46.5 ล้านคัน การผลิตรถยนต์ของรัฐทมิฬนาฑูอยู่ที่ 4.4 ล้านคัน คิดเป็น 15% ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ สามารถส่งออกคิดเป็น 21% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ รถยนต์ที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 80%

โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Coimbatore เมือง Tiruchchirapali เมือง Toothukidi และเมือง Tirunelveli ในปี 2558 มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่างชาติจำนวนมากถึง 80 บริษัท ได้แก่ บริษัท Bosch, Rane, Lear, Daimler, Yamaha, Mitsubishi และ Visteon เป็นต้น โดยมีการผลิตล้อรถยนต์ของรัฐทมิฬนาฑูเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ผลิตเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40% และเมื่อพิจารณาโครงสร้างการผลิตส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์พบว่าร้อยละ 35 เป็นการผลิตตัวถังรถ ตามด้วยการผลิตเครื่องรถยนต์ 17%

นอกจากนี้รัฐทมิฬนาฑูยังอยู่ใกล้ท่าเรือเชนไน และระเบียงอุตสาหกรรม และมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลที่ส่งเสริมในการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ของรัฐทมิฬนาฑูยังมีสถาบันวิจัยด้านรถยนต์ตั้งอยู่มากมาย ได้แก่ Global Automotive Research Centre (GARC) ซึ่งประกอบด้วยห้องทดลองคือ Infotonics Lab, Passive Safety Lab, EMC Lab, Powertrai Lab, Fatigue Lab, Hologation Tracks, Component Lab, Meterial Lab และ Certification Lab

และมีศูนย์พัฒนาและวิจัยรถยนต์ดังนี้ ศูนย์วิจัย Mahindra Research Valley ตั้งที่เมืองเชนไน ซึ่งเป็นศูนย์ออกแบบรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเซีย ศูนย์ออกแบบ Daimler R&D Center, Ashok Leyland R&D and Technical Center, Visteon R&D Center, Renault & Nissan R&D Center, Hyundai Vehicle Development, Ford Technical Support Center และ State of the Art National Automobile Testing and R&D Center

นอกจากอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว รัฐทมิฬนาฑูยังเป็นฐานการผลิตอีกหลายอุตสาหกรรมหลายๆ อย่างของอินเดีย รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันให้นโยบาย “Make in India” ของรัฐบาลปัจจุบันสัมฤทธ์ผลได้ และยังเป็นประตูเชื่อมกับประเทศเมียนม่าร์กับไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลอินเดียต้องเร่งสร้างคือโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้า ถนนทั่วอินเดียยังไม่ดีพอ ต้องเร่งปรับปรุงกันต่อไปครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560